หากเอ่ยถึง ปลานิล เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักและเคยทานกันมาแล้วอย่างแน่นอน พวกมันเป็นปลาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ แต่วันนี้ Animal kingdom ไม่ได้พาทุกคนมาทานปลานิลค่ะ แต่เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปลาน้ำจืดสายพันธุ์นี้ให้มากยิ่งขึ้น ไปติดตามกันได้เลย

ข้อมูลทั่วไปของปลานิล
ปลานิล เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus เป็นปลาเศรษฐกิจที่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติที่อร่อย พวกมันถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ.2508 จำนวน 50 ตัว โดยการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชนิดนี้ในประเทศไทยได้มีการบันทึกสถิติในการเลี้ยงตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 นับจากนั้น ปลานิลก็ได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยไม่ต่ำกว่าแสนล้าน จนถึงปัจจุบัน และในปัจจุบันประเทศไทยเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดสายพันธุ์เพื่อการค้าได้ไม่น้อยกว่า 220,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าหน้าฟาร์มกว่า 12,000 ล้านบาท
ถิ่นกำเนิด
พวกมันสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำไนล์ ในทวีปแอฟริกา สามารถพบสัตว์น้ำชนิดนี้ได้ทั่วไปตามบึง หนอง และทะเลสาบในประเทศยูกันดา ซูดาน และทะเลสาบแทนกันยีกา

ลักษณะทั่วไปของปลานิล
สัตว์น้ำชนิดนี้มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่จะแตกต่างกันตรงที่พวกมันจะมีจุดสีขาวและลายสีดำสลับกัน ส่วนบริเวณครีบก้น ครีบหลังและส่วนลำตัวจะเป็นสีเขียวอมน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามบริเวณลำตัว โดยสัตว์น้ำจืดชนิดนี้มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 20-25 เซนติเมตร

ลักษณะพฤติกรรม
พวกมันมีนิสัยที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ยกเว้นเวลาผสมพันธุ์ เป็นปลาที่มีความอดทนและมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีมาก ซึ่งมีการศึกษาพบว่าปลานิลสามารถทนความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพัน และทนต่อค่าความเป็นกรด-ด่างในช่วง 6.5-8.2 ได้เป็นอย่างดี และยังทนต่ออุณหภูมิได้สูงถึง 40 องศา

การสืบพันธุ์
ปลาชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 เดือนต่อการผสมพันธุ์ 1 ครั้ง หากมีอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม ในเวลา 1 ปี สามารถผสมพันธุ์ได้ถึง 5-6 ครั้ง โดยเพศผู้จะใช้ช่วงหน้าผากไปดุนที่ใต้ท้องของเพศเมีย เพื่อกระตุ้นและเป็นการเร่งเร้าให้เพศเมียวางไข่ ซึ่งเพศเมียจะวางไข่ครั้งละ 10-12 ฟอง ในขณะเดียวกันเพศผู้จะว่ายน้ำคลอเคลียไปกับเพศเมีย พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อไปผสมกับไข่ จะทำอยู่แบบนั้นจนกว่าจะผสมพันธุ์เสร็จ ส่วนไข่ที่ผสมน้ำเชื้อเสร็จแล้วจะถูกปลาเพศเมียอมไว้ในปาก แล้วว่ายออกจากรังไปบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า ส่วนเพศผู้ก็จะคอยหาโอกาสไปว่ายคลอเคลียกับเพศเมียตัวอื่น ซึ่งแม่ปลาจะอมไข่ไว้ 4-5 วัน ไข่จะเริ่มฟักเป็นตัว เมื่อลูกปลาฟักตัวออกมาใหม่ ๆ พวกมันจะอาศัยอาหารที่อยู่ในถุงใต้ท้องของพวกมัน ขณะเดียวกันแม่ปลาก็ยังคงอมลูกปลาไว้ในปาก จนกว่าถุงอาหารใต้ท้องของลูก ๆ จะยุบหายไป แล้วจึงคายลูกลาออกมา