ปลาหมอ ปลาพื้นบ้านคู่แหล่งน้ำในประเทศไทย

by animalkingdom
413 views
ปลาหมอ

ในแทบจะทุกประเทศทั่วโลกมักจะมีปลาพื้นถิ่นหรือปลาพื้นบ้าน ซึ่งในประเทศไทยก็ต้องยกให้ ปลาหมอ เป็นหนึ่งในปลาที่สามารถพบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ในแหล่งน้ำไหน นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในปลาที่ได้รับความนิยมในการนำมาประกอบอาหาร เพราะสามารถทำได้หลากหลายเมนู รสชาติดี เลยมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่า ปลาสายพันธุ์นี้มีความน่าสนใจอย่างไร และเพราะเหตุใด พวกมันจึงกลายมาเป็นหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับปลาหมอ ปลาที่มีความแข็งแรงทนทานและปรับตัวเก่ง

ปลาหมอ

ปลาหมอ สัตว์น้ำที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยลำตัวที่อ้วนป้อม แต่ด้านข้างกลับแบน ตามลำตัวถูกปกคลุมด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเหลืองและสีดำ บริเวณท้องด้านล่างจะสีจางกว่าหลังด้านบน ตามลำตัวมักจะมีเกล็ดประมาณ 7-8 แถบ แล้วแต่ขนาดตัว

บริเวณโคนหางจะมีจุดเป็นสีดำกลม ๆ เวลาตกใจจะสามารถซีดจางหายไปได้ หัวเป็นทรงสามเหลี่ยมที่แบนลาด มีดวงตาขนาดใหญ่กลมโตดูน่ารักไม่น้อย ริมฝีปากไม่สามารถยืดหดได้ ภายในเต็มไปด้วยฟันที่แหลมคม ตัวเมียขนาดตัวจะค่อนข้างใหญ่กว่าตัวผู้ แต่สีจะจางมากกว่าตัวผู้ 

เมื่อเข้าสู่ฤดูวางไข่ตัวเมียจะมีท้องเป่งออกมา ช่องเพศก็จะขยายจนกลมโตและเป็นสีแดง ส่วนตัวผู้จะมีขนาดตัวเล็กและเรียวยาว สีเข้มมากกว่า เราจึงสามารถสังเกตเพศของพวกมันได้ด้วยการมองด้วยตาเปล่านั่นเอง ปลาหมอที่โตเต็มวัยจะมีความยาวลำตัวประมาณ 16 เซนติเมตร แต่ก็เคยมีการรายงานพบว่า พวกมันมีความยาวได้กว่า 23 เซนติเมตรเช่นกัน

ถิ่นที่อยู่อาศัย

เราจึงสามารถพบปลาหมอได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดทั้งแบบน้ำนิ่งและน้ำไหล กระจายตัวอยู่ทั้งไปในประเทศไทย คาบสมุทรอินโดจีน อินเดีย มาลายา ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงออสเตรเลีย สามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ในน้ำกร่อย บริเวณที่ลุ่มดินเค็มใกล้ชายฝั่งทะเล รวมไปถึงในป่าจาก

นอกจากนี้พวกมันยังเติบโตได้ในน้ำที่มีความเป็นกรดสูงอย่างในป่าพรุอีกด้วย ปลาหมอเป็นปลาที่สามารถปรับตัวได้เก่งและมีความทนทานเป็นอย่างมาก สามารถอาศัยอยู่ตามโคลนตมได้เหมือนกับปลาดุก เพราะเกล็ดตามลำตัวของพวกมันทั้งแข็งและหนา แถมยังมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยหายใจได้อีกด้วย

พฤติกรรมตามธรรมชาติ

ปลาหมอ

ปลาหมอเป็นสัตว์ที่ดูภายนอกเหมือนจะไม่มีพิษภัย แต่ความจริงแล้วพวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อตามธรรมชาติ ที่มีความสามารถในการล่าเหยื่อไม่แพ้ใคร ส่วนใหญ่จะกินสัตว์ด้วยกันเองเป็นหลัก ตอนที่ยังเป็นลูกปลาฟักออกมาใหม่ ๆ พวกมันจะกินถุงอาหารหรือไข่แดงที่ติดตัวมาด้วย เมื่ออาหารนั้นหมดไปก็จะเริ่มกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างพวกลูกน้ำหรือไรแดง เมื่อโตขึ้นมาหน่อยก็จะเริ่มกินเป็นพวกตัวอ่อนของแมลง ลูกปลา ลูกกุ้ง รวมไปถึงสัตว์หน้าดิน

พวกมันมักวางไข่ในช่วงฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน มักจะวางไข่ตามน้ำใหม่หรือน้ำจากฝนแรก พฤติกรรมแปลก ๆ ที่น่าสนใจคือ ปลาหมอทั้งตัวผู้และตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ มักจะปีนขึ้นไปตามคันบ่อหรือออกจากที่หลบซ่อนเพื่อวางไข่ไว้ในพงหญ้า แทนที่จะวางไข่ในน้ำเหมือนกับปลาสายพันธุ์อื่นทั่วไป

ปลาหมอ สัตว์เศรษฐกิจเลี้ยงง่ายกับเรื่องที่คุณควรรู้

ปลาหมอ

สำหรับใครที่สนใจเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพ ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลี้ยง ก็ควรที่จะต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ธรรมชาติและความเป็นอยู่ของพวกมันเสียก่อน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่จะเป็นต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็น 

  • อัตราส่วนเพศในบ่อ ใน 1 บ่อ ควรมีตัวผู้ 1 ส่วน ต่อตัวเมีย 1.71 ส่วน 
  • ปริมาณไข่ ปลาหมอถือเป็นปลาที่วางไข่ได้เยอะ สำหรับคนเลี้ยงปลาเป็นอาชีพจึงถือว่าเป็นปลาอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่น่าสนใจ โดยตัวเมียที่โตเต็มวัยสามารถวางไข่ได้ถึงครั้งละ 63,000 ฟอง หากตัวใหญ่หน่อยก็อาจวางไข่ได้เป็นแสนฟองเลยทีเดียว
  • การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปลาที่จะมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป น้ำหนักมากกว่า 100 กรัม ให้ดูปลาตัวเมียที่มีเพศสมบูรณ์ ช่องเพศขยายใหญ่เป็นสีแดง ท้องอวบอูมออกมา ส่วนตัวผู้ก็ต้องมีความปราดเปรียวและแข็งแรง เมื่อบีบท้องแล้วจะมีน้ำเชื้อไหลออกมา ที่สำคัญคือต้องไม่มีแผลตามตัวทั้งคู่
  • การเพาะพันธุ์ สามารถทำได้ทั้งวิธีธรรมชาติด้วยการปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาหมอลงไปอยู่ในบ่อเดียวกันที่มีขนาด 1.5x2x1เมตร ความลึกของน้ำประมาณ 40 เซนติเมตร หรือจะใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนก็ได้เหมือนกัน
ปลาหมอ
  • การฟักไข่ หลังจากที่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์วางไข่เรียบร้อยแล้ว ให้เรารวบรวมไข่ด้วยการใช้อวนร่อนออกมาแล้วย้ายไปอยู่ในบ่อคอนกรีตขนาดประมาณ 1.5×3 เมตร พยายามจัดความหนาแน่นให้อยู่ที่ 500 ฟองต่อน้ำ 1 ลิตร มีอากาศถ่ายเทเบา ๆ ไข่ก็จะฟักกลายเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง
  • การดูแลลูกปลา ช่วงแรกใน 28 วันหลังจากปลาหมอฟักออกมาจากไข่ ให้เลี้ยงพวกมันในบ่อดินหรือบ่อคอนกรีต ช่วง 1-3 วันแรก พวกมันจะกินอาหารจากถุงอาหารหรือไข่แดงของตัวเอง เมื่อเข้าสู่ช่วง 3 วันถึง 1 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มให้อาหารผงและไข่แดง ถัดออกไปอีก 5 วันให้กินไรแดงขนาดเล็ก ไข่แดง ถัดออกไปอีก 5 วัน ให้กินไข่ตุ๋นหรือไรแดง เมื่ออายุครบ 18 วันก็ให้กินอาหารกุ้งเล็กเบอร์ 1 ได้เลย
  • อาหารปลาที่เหมาะสม ในช่วงที่พวกมันยังเป็นเด็ก อาหารที่ดีที่สุดคืออาหารเม็ดของปลาดุกเล็กหรือจะใช้เนื้อปลาสดสับละเอียดก็ได้เหมือนกัน ปริมาณอาหารที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 3% ถึง 5% จากน้ำหนักตัว แบ่งเป็นวันละ 2 มื้อเช้าเย็น ทำอยู่อย่างนั้นประมาณ 2 เดือน แล้วเปลี่ยนไปให้อาหารเม็ดสำหรับปลาดุกใหญ่แทน

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment