ทำความรู้จักกับ ปลาหมอทะเล ยักษ์ใหญ่ใจดี ผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล

by animalkingdom
150 views
ปลาหมอทะเล

ปลาหมอ ปลาน้ำจืดที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าในทะเลไทยก็มีปลาหมอทะเลด้วยเช่นกัน พวกมันมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากปลาหมอน้ำจืดอย่างสิ้นเชิง แถมยังมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ากันมาก หากมีโอกาสได้เจอตามธรรมชาติอาจมีตกใจกันได้บ้างอย่างแน่นอน นอกจากนี้พวกมันยังได้รับความนิยมในการเลี้ยงอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นปลาทะเลที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ไขความลับ ชีวิตอัศจรรย์ของปลาหมอทะเล ยักษ์ใหญ่แห่งแนวปะการัง 

ปลาหมอทะเล

ปลาหมอทะเล หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ปลาเก๋ามังกร พวกมันถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ปลากะรัง เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์ พวกมันจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นยักษ์ใหญ่แห่งแนวปะการังนั่นเอง ปลาทะเลสายพันธุ์นี้เป็นสัตว์กินเนื้อ เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักตัวได้ถึง 400 กิโลกรัม และความยาวลำตัวถึง 2.5 เมตร

จุดเด่นของพวกมันคือการมีกระดูกที่แข็งแรงเป็นอย่างมาก มีศีรษะขนาดใหญ่ ปากกว้างและสามารถมองเห็นริมฝีปากได้อย่างชัดเจน ใบหน้าดูเอื่อยเฉื่อยไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ ตามตัวจะสามารถสังเกตเห็นเกล็ดขนาดเล็กได้ ส่วนสีก็มีหลากหลายแล้วแต่สายพันธุ์

แต่โดยปกติแล้วปลาหมอทะเลจะมีสีออกเข้ม ๆ มากกว่าสีสันสดใสเช่นเดียวกันกับสายพันธุ์น้ำจืด นอกจากนี้พวกมันยังสามารถเปลี่ยนสีสันและลวดลายตามการเจริญเติบโตได้ รวมถึงการเปลี่ยนสีให้เข้มหรือจางลงตามสภาพแวดล้อม

ปัจจุบัน ปลาหมอทะเลถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกคุกคามในระดับต่ำ ซึ่งไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ จากขนาดตัวที่ใหญ่โต กันจับพวกมันถึงไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าจะเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่เมื่อโตขึ้น ขนาดตัวก็ใหญ่เกินกว่าที่จะเลี้ยงกันได้

พฤติกรรมการกิน

ปลาหมอทะเล

ปลาหมอทะเลเป็นสัตว์ทะเลที่กินเนื้อเป็นอาหาร การกินอาหารของพวกมันจะใช้วิธีการฮุบเหยื่อแล้วกลืนเข้าไปทั้งตัว ส่วนใหญ่พวกมันจะกินเต่าเด็กหรือปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร ภายในปากของพวกมันจะมีฟันขนาดเล็กที่แหลมคมจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช้งานในการเคี้ยว ปกติแล้วพวกมันมักจะหากินในตอนกลางคืน เนื่องจากเป็นปลาที่สายตาไม่ค่อยจะดี

ถึงแม้ว่าจะมีขนาดตัวที่ใหญ่โต แต่นิสัยไม่ได้ดุร้ายเลยแม้แต่น้อย เพียงแค่วิธีการกินอาจจะสยองขวัญสำหรับเหยื่อไปสักหน่อยก็ตาม เวลาที่ขู่ พวกมันจะใช้วิธีการพองครีบเหงือกเหมือนกับปลากัด ซึ่งสำหรับมนุษย์แล้วไม่ใช่วิธีการขู่ที่ดูน่ากลัวเลยแม้แต่น้อย

ถิ่นที่อยู่อาศัย

ในปัจจุบันปลาหมอทะเลอาจได้รับความนิยมในฐานะสัตว์เลี้ยงบ้างแล้ว แต่ตามธรรมชาติพวกมันมักอาศัยอยู่ตามกองหินใต้น้ำ ตามแนวปะการัง ใต้โขดหิน หรือเศษซากสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ทำจมลงไป เรามักเจอพวกมันว่ายน้ำไปมาช้า ๆ แบบสโลว์ไลฟ์ หรือบางทีก็ลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่กลางน้ำเลยก็มีเหมือนกัน 

ส่วนใหญ่สามารถพบพวกมันได้ตั้งแต่ความลึก 4 เมตรขึ้นไป จนถึงประมาณ 100 เมตร มีพฤติกรรมในการขุดหลุมเหมือนกับปลานิล ความกว้างตั้งแต่ 50 เซนติเมตร ไปจนถึง 100 เซนติเมตรสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและหลบจากผู้ล่า

บริเวณทะเลที่สามารถพบปลาหมอทะเลได้จะเป็นทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น ตั้งแต่ทะเลในแถบอินโดแปซิฟิก อ่าวเปอร์เซีย ยาวขึ้นไปจนถึงออสเตรเลียตอนเหนือ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่นิยมรับประทานเนื้อพวกมันด้วยการปรุงสดทั้งสิ้น ในประเทศไทยเราก็สามารถพบพวกมันได้เช่นกัน

วงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ 

ปลาหมอทะเล

ปลาหมอทะเลเป็นปลาทะเลที่หลังผสมพันธุ์จะวางไข่ให้ลอยน้ำ โดยการวางไข่ 1 ครั้งจะอยู่ที่ 1 ล้านฟองขึ้นไป ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน ถึงแม้ว่าแม่จะมีน้ำหนักตัวกว่า 400 กิโลกรัม แต่ไข่ของพวกมันมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.2 มิลลิเมตรเท่านั้น

ใช้เวลาในการฟักเป็นตัวเพียงแค่ 48 ชั่วโมง หลังจากฟักออกมาจากไข่แล้ว ตัวอ่อนของพวกมันจะมีขนาดใกล้เคียงกับหนอนแมลงวัน โดยมีความยาวลำตัวไม่เกิน 2 มิลลิเมตร เราสามารถพบพวกมันลอยอยู่ในทะเลชั้นผิวน้ำด้านบน อาศัยการกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร

หากปลาหมอทะเลไซส์จิ๋วเหล่านี้สามารถรอดจากอันตรายและกลายเป็นลูกปลาได้สำเร็จ พวกมันก็จะเริ่มมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพ่อแม่ ความยาวลำตัวจะไม่เกิน 3 เซนติเมตร และยังคงอาศัยอยู่บนผิวน้ำทะเลและกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเหมือนเดิม 

จนกระทั่งเข้าสู่ปลาวัยตัวอ่อน จะมีความยาวลำตัวประมาณ 10 เซนติเมตร พวกมันก็จะเริ่มลงมายังทะเลชั้นล่างและเริ่มกินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร หากยังมีชีวิตรอดต่อไปอีกก็จะมีความยาวลำตัวประมาณ 30 เซนติเมตร จัดอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่เริ่มสามารถลงมาอยู่ในน้ำทะเลชั้นที่ลึกขึ้นกว่าเดิมได้

พวกมันจะเริ่มกินปลาเป็นอาหารหลัก แต่กว่าจะเจริญเติบโตเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยและมีน้ำหนักตัวหลักร้อยกิโลกรัม ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่อายุเฉลี่ยของพวกมันจะอยู่ที่ประมาณ 30 ปีเท่านั้น

อยากมีปลาหมอทะเลเป็นของตัวเอง เราสามารถเลี้ยงได้หรือไม่

ปลาหมอทะเล

เนื่องจากปลาหมอทะเลจัดเป็นปลาทะเลสวยงามอีกหนึ่งประเภท ถึงแม้ว่าจะมีขนาดตัวที่ใหญ่โตเป็นอย่างมาก และอาจจะไม่ได้มีสีสันและลวดลายที่สวยงามมากนัก แต่หลายคนก็นิยมเลี้ยงเอาไว้ดูเล่น ซึ่งปลาสายพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงได้ ไม่ผิดกฎหมาย

แต่สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงในการเลี้ยงก็คือพวกมันเจริญเติบโตรวดเร็วเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีขนาดตัวที่ใหญ่โต โดยส่วนใหญ่แล้วจึงนิยมเลี้ยงกันตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือเลี้ยงตามบ่อกระชังในเชิงปศุสัตว์มากกว่า ถ้าเราอยากจะเลี้ยงในบ้านก็ต้องมีตู้ปลาขนาดใหญ่พอสำหรับการรองรับปลา 1 ตัวที่มีน้ำหนัก 400 กิโลกรัม

หลายคนอาจพอทราบมาแล้วบ้างว่า ลูกปลาสายพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้ แต่เมื่อพวกมันโตขึ้นในระยะหนึ่ง เราก็ต้องเปลี่ยนให้ไปอยู่ในน้ำทะเลตามธรรมชาติ เพราะหากเรายังคงเลี้ยงอยู่ในน้ำจืด พวกมันก็จะเสียชีวิตในที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเลี้ยงก็ต้องเตรียมแหล่งน้ำทะเลเอาไว้ให้ดี ต้องมีการเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment