ปลาหมอ ที่ไม่ใช่หมอ

by animalkingdom
256 views

 “ปลาหมอ” ปลาที่น้อยคนจะไม่รู้จัก เพราะเป็นปลายอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมนำมาทำอาหาร ถึงทุกคนจะรู้จักปลาชนิดนี้ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่รู้เกี่ยวกับชีวิตของพวกมัน และนั้นคือเหตุผลที่ Animal kingdom จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปลาชนิดนี้ค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปติดตามกันได้เลย

ปลาหมอ

ลักษณะทั่วไปของปลาหมอ

ปลาหมอ เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus  มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบน ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกเป็นหยักแข็ง มีเกล็ดใหญ่ปกคลุมทั้งลำตัว มีขอบเกล็ดที่หยักและผิวสาก เส้นข้างลำตัวของพวกมันจะขาดตอน มีครีบหลังที่ยาวเกือบเท่ากับความยาวของลำตัว พวกมันมีก้านครีบที่แข็งและแหลมคมเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับครีบก้น แต่ครีบก้นนั้นจะสั้นกว่า ครีบอกมีขนาดเล็กเป็นรูปไข่ ครีบหางปลายมน ลำตัวของปลาน้ำจืดชนิดนี้จะมีสีเขียวมะกอกและมีลายประสีคล้ำที่บริเวณข้างลำตัว ครีบใส ลำตัวส่วนท้องมีสีเหลือง ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนจะมีแต้มสีคล้ำ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นแผ่นริ้วย่น ๆ อยู่ทางตอนบนของช่องเหงือก ทำให้สามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำ พวกมันสามารถอยู่บนบกหรือในพื้นที่ที่ขาดน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ในช่วงฤดูฝนมีโอกาสที่จะพบปลาหมอแถกเหงือกไถลคืบคลานไปบนบก เพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ ด้วยพฤติกรรมนี้ ทำให้ปลาชนิดนี้ถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า “climbing perch” หรือ “climbing gourami”

ปลาหมอมีความยาวอยู่ที่ 10–13 เซนติเมตร ตัวใหญ่ที่สุดสามารถมีความยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร มีพฤติกรรมการวางไข่โดยวางไข่ลอยเป็นแพ และจะปล่อยให้ลูกปลาเติบโตเองตามธรรมชาติ

ปลาหมอ

ที่อยู่อาศัย

ปลาหมอเป็นสัตว์น้ำที่กระจายพันธุ์อยู่ในน้ำจืดทั่วไป มีทั้งแหล่งน้ำไหลและน้ำนิ่ง โดยจะพบในทางทวีปเอเชียอย่าง จีนตอนใต้ ไทย คาบสมุทรอินโดจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งสัตว์น้ำพวกนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย หรือบริเวณที่ลุ่มดินเค็มตามแนวชายฝั่งทะเล แต่จะต้องมีความเค็มไม่เกิน 10 ส่วนในพัน และสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นกรดจัด อย่างเช่น ป่าพรุ พวกมันจะชอบฝังตัวอยู่ในโคลนตมเป็นเวลานาน ๆ แถมยังทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดี เพราะปลาหมอมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ

ปลาหมอ

อาหารตามธรรมชาติ

ปลาหมอเป็นปลากินเนื้อ เพราะความยาวของลำไส้สั้นกว่าความยาวของลำตัว และจากการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของสารอาหารและการกินอาหารพบว่า สัตว์น้ำจืดชนิดนี้จะกินสัตว์เป็นหลัก เมื่อพวกลูกปลาได้ฟักออกจากถุงไข่ มันจะกินอาหารที่อยู่ในถุงอาหาร จนถุงอาหารของพวกมันยุบ จึงจะเริ่มกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่น rotifer  ostracod protozoa rotifer และไรแดงกับลูกน้ำ หลังจากนั้นพวกมันจะเริ่มกินตัวอ่อนของแมลง สัตว์หน้าดิน ลูกกุ้งและลูกปลาวัยอ่อนทั้งหลาย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment