หมูป่า สัญลักษณ์แห่งความดุร้ายที่กลายมาเป็นอาหารรสชาติอร่อย

by animalkingdom
431 views
หมูป่า

เนื้อหมูนับเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศที่สามารถปรุงได้หลายเมนู และจัดเป็นเนื้อแดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งในประเทศไทยก็ไม่ได้บริโภคเฉพาะหมูที่เลี้ยงในฟาร์ม ยังรวมไปถึงหมูป่าที่ถึงแม้ว่าเนื้อจะมีความเหนียวกว่า แต่ก็ได้รับความนิยมและเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับเมนูอาหารไทยพื้นบ้านเลยทีเดียว พวกมันอาจขึ้นชื่อเรื่องความดุร้ายบ้าง แต่ความจริงแล้วเราสามารถเลี้ยงพวกมันเพื่อสร้างรายได้ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจเลยทีเดียว

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับหมูป่า สัตว์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

หมูป่า

หมูป่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้มาอย่างยาวนานและมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะในแถบทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา ยุโรป เอเชีย รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ในเวลาต่อมามีการนำเข้าหมูป่าจากต่างประเทศเพื่อเลี้ยงเชิงปศุสัตว์ พวกมันจึงจัดว่าเป็นบรรพบุรุษของหมูที่เราเลี้ยงกันในฟาร์มเพื่อบริโภคเนื้อกันด้วย

ลักษณะโดยทั่วไปของหมูป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ จะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มที่เลี้ยงในฟาร์ม พวกมันตัวเล็กกว่า มีเขี้ยวขนาดใหญ่ รูปร่างผอมสูง เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ มีขนปกคลุมร่างกายแข็ง ๆ สีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ เนื้อมีไขมันต่ำ และออกลูกดก เนื้อจะใกล้เคียงกับหมูฟาร์ม เพียงแต่จะไม่ค่อยมีไขมัน มีสีแดงเข้ม เหนียวนุ่ม ทำให้ราคาค่อนข้างสูง

พฤติกรรมตามธรรมชาติ

หมูป่า

หมูป่ามีพฤติกรรมตามธรรมติที่มักจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 5 ถึง 6 ตัว แต่ก็เคยมีการพบเห็นฝูงที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 ตัวด้วยเช่นกัน ในแต่ละฝูงก็จะมีหมูที่มีเพศและช่วงวัยแตกต่างกันออกไปด้วย ถึงอย่างนั้นก็มีการพบพวกมันอาศัยอยู่ตัวเดียวตามลำพังได้ 

โดยปกติแล้วหมูป่าที่อาศัยอยู่เพียงตัวเดียวจะเป็นเพศผู้และถูกเรียกว่าหมูโทน เพราะอยู่ตามลำพัง พวกมันจึงมักจะมีรูปร่างที่ใหญ่โตกว่าหมูตัวอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่า มีเขี้ยวขนาดใหญ่ที่แหลมคม มีนิสัยดุร้าย ทำให้สามารถเอาชีวิตรอดได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวอื่นมาช่วยนั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์หมูโทนเหล่านี้ก็จะกลับเข้าฝูงเพื่อหาตัวเมียในการผสมพันธุ์เช่นเดียวกัน 

เวลาออกหากินพวกมันมักจะส่งเสียงร้องโวยวายดังลั่น ส่วนใหญ่เกิดจากการแย่งอาหารกันเอง แต่เมื่อมีอันตรายเข้าใกล้ หมูป่าเหล่านี้ก็มักจะเงียบและเงี่ยหูฟังภัยอันตราย เพื่อให้ตัวเองสามารถหลบหนีได้ทัน นอกจากนี้พวกมันยังมีความสามารถในการว่ายน้ำที่ยอดเยี่ยม วิ่งเร็วเทียบเท่ากับม้า และชื่นชอบการเล่นโคลนคล้ายกับวัวด้วย

เผยวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างหมูป่าและหมู่บ้าน

หมูป่า

หมูป่าเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำฟาร์มปศุสัตว์ แต่ถึงอย่างนั้นพวกมันก็มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากหมูฟาร์มตัวสีชมพูที่เราคุ้นตากันดี สำหรับใครที่ยังแยกไม่ออกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน เราจะพาทุกคนไปดูวิธีการสังเกตง่าย ๆ กัน ดังนี้ 

  • ขน หมูป่าจะมีขนปกคลุมตามลำตัวเป็นขนแข็ง ๆ สีน้ำตาลหรือสีดำ ส่วนหมูที่อยู่ในฟาร์มจะไม่มีขนปกคลุมตามร่างกาย 
  • โครงหน้า หมูป่ามักมีรูปหน้าเป็นทรงสามเหลี่ยมที่ดูแหลมยาว ใบหูทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็กตั้งฉากกับศีรษะ ในขณะที่หมูบ้านจะมีกะโหลกศีรษะที่ไม่ได้ยืดยาวออกมามากนัก มีจมูกขนาดใหญ่ แต่ดวงตาเล็ก 
  • ไหล่ หมูที่ป่าจะมีหัวไหล่สูงกว่าขาหลัง ลำตัวของพวกมันจึงมีความลาดเอียงเทลงไปข้างหลังนั่นเอง นอกจากนี้บนไหล่ยังมีแผ่นไขมันที่ยื่นนูนออกมาอีกด้วย 
  • ขา หมูป่าจะมีขาที่เล็กและเรียวมากกว่า กีบเท้าของพวกมันจะเป็นสีดำขนาดเล็ก ปลายกีบเท้ามีความแหลมเป็นทรงสามเหลี่ยม ในขณะที่หมูฟาร์มขาจะสั้นและตัวอ้วนกลม
  • เขี้ยว เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถแยกระหว่างหมูป่าและหมูฟาร์มได้ชัดเจนที่สุด เพราะหมูป่าตัวผู้จะมีเขี้ยวขนาดใหญ่งอกออกมาหลังอายุได้ประมาณ 5 ปี เอาไว้ใช้ในการโจมตีศัตรูหรือต่อสู้กับคู่แข่ง ส่วนหมูในฟาร์มจะไม่มีเขี้ยว เพราะพวกมันไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับใคร

ทำความรู้จักกับสายพันธุ์หมูป่ายอดนิยมในประเทศไทย

หมูป่า

หมูป่าอาจเป็นสัตว์ดุร้ายก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นพวกมันก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเหล่าเกษตรกรได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลี้ยงเพื่อขายเนื้อ นอกจากนี้เขี้ยวของพวกมันยังเชื่อว่าเป็นเครื่องรางช่วยปกป้องคุ้มครองอันตรายได้อีกด้วย โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงในฟาร์ม ประกอบไปด้วย 

  1. สายพันธุ์หน้ายาว ลักษณะลำตัวจะเพรียวยาว ทั้งขาและกะโหลกศีรษะมีขนาดเล็ก มีกีบเท้าที่แข็งแรง เมื่ออายุครบ 2 ปี สามารถมีความสูงได้ถึง 90 เซนติเมตร ใต้แก้มมักมีขนสีขาวขึ้นมาปกคลุมและเป็นแผงยาวไปจนถึงสะโพก ตัวผู้จะมีเขี้ยว แต่ตัวเมียไม่มีเขี้ยว มักออกหากินตามต้นไม้ในป่าที่ไม่ลึกมาก 
  2. สายพันธุ์หน้าสั้น แตกต่างจากพันธุ์หน้ายาวตรงที่กะโหลกศีรษะจะมีขนาดที่ใหญ่กว่า ตัวเตี้ยและอ้วนกลม มีใบหูขนาดเล็ก มักอยู่รวมตัวกันเป็นฝูงตั้งแต่ 30 ตัวขึ้นไป หากตัวเมียคลอดลูก หมูป่าตัวนั้นจะทำการแยกตัวออกจากฝูงเพื่อดูแลลูกจนลูกอายุครบ 4 เดือนถึงจะพาลูกกลับเข้าฝูง มาหากินในป่าลึกมากกว่าป่าใกล้กับชุมชน

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment