แมลงทับ อัญมณีของเหล่าหมู่มวลแมลง

by animalkingdom
504 views
แมลงทับ

พูดถึงแมลง หลายคนอาจรู้สึกขยาดหรือหวาดกลัวพวกเขา เนื่องจากพวกเขามีรูปลักษณ์ที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ แต่มีแมลงอยู่สายพันธุ์หนึ่งที่สวยงามจนได้รับการขนานนามว่าเป็นอัญมณีของเหล่ามวลแมลง นั่นก็คือแมลงทับนั่นเอง พวกเขามีรูปลักษณ์ที่สวยงามและโดดเด่นสะดุดตามากกว่าใคร จนถึงขั้นมีการนำเอาพวกเขาไปทำเครื่องประดับกันเลยทีเดียว สำหรับใครที่ชื่นชอบ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแมลงชนิดนี้กัน ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับแมลงทับ แมลงที่สวยงามราวกับมรกต 

แมลงทับ

แมลงทับ จัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในอันดับแมลงปีกแข็ง ลักษณะโดยรวมของพวกเขาจะมีลำตัวที่ยาวและโค้งนูน ปีกของพวกเขามีความแข็งแรงทนทานเป็นอย่างมาก หัวขนาดเล็กจะถูกซ่อนอยู่บริเวณใต้อกแถวปล้องแรก 

ซึ่งหัวของพวกเขานั้นจะมีความโค้งมนเรียวเสมอกันทั้งลำตัว ทำให้แยกได้ยากว่าหัวของแมลงทับอยู่ที่ไหน ปลายหางจะมีความเรียวรีเล็กน้อย มีหนวดลักษณะเหมือนกับใบไม้ ความโดดเด่นที่สุดของพวกเขาก็คือสีสันที่สวยงาม 

ความจริงแล้วแมลงทับมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ทุกสายพันธุ์จะมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นนั่นก็คือ สีที่ดูเงางามและแวววาวเหมือนกับอัญมณี สีที่คุ้นตาชาวไทยเรามากที่สุดก็คือ สีเขียว ทำให้พวกเขาได้รับการขนานนามว่าเป็นแมลงที่มีความงดงามราวกับมรกต 

แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีทั้งสีเหลือง สีดำ สีน้ำเงิน และสีแดง ด้วยความสวยงามนี้ ทำให้พวกเขามักถูกจับมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับในหลายชนชาติเลยทีเดียว 

ถิ่นที่อยู่ 

แมลงทับ

โดยทั่วไปแล้วที่อยู่อาศัยของแมลงทับจะอยู่ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ปัจจุบันมีการพบพวกเขาจำนวนกว่า 15,000 ชนิด จากทั้งหมด 450 สกุล มีสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วและพบเป็นซากดึกดำบรรพ์มากกว่า 100 ชนิด 

บางสายพันธุ์พบว่ามีความยาวมากกว่า 77 มิลลิเมตรเลยทีเดียว หากพวกเขายังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ คงนับว่าเป็นแมลงที่น่ากลัวมากกว่าสวยงามอย่างแน่นอน 

สำหรับในประเทศไทยเราสามารถพบแมลงทับได้ 2 สายพันธุ์ประกอบไปด้วย สายพันธุ์ขาเขียว ที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง และสายพันธุ์ขาแดง ที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ทั้ง 2 สายพันธุ์ชื่นชอบการกินใบอ่อนมะขามเทศ สีของพวกเขาจะมีความเขียวและเหลือบสีทองแวววาวเช่นเดียวกัน 

วัฏจักรของแมลงทับ

แมลงทับ

วงจรชีวิตของแมลงทับจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อน ตัวโตเต็มวัยจะจับคู่กันเพื่อทำการผสมพันธุ์ในตอนกลางวัน ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าตัวเมียยินยอมพร้อมใจมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ตัวผู้ก็จะจากโลกใบนี้ไป ส่วนตัวเมียก็จะหาพื้นที่วางไข่ 

ส่วนใหญ่จะพบพื้นที่วางไข่อยู่บริเวณโคนต้นไม้ โดยทำการวางไข่ลึกลงไปในดินประมาณ 2 เซนติเมตร วางไข่ทีละฟอง วันละประมาณ 1-2 ฟองเท่านั้น ตัวเมียเมื่อวางไข่เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะตายในทันที 

ไข่จะใช้เวลาอยู่ในดินยาวนานประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็จะฟักตัวออกมากลายเป็นหนอนในช่วงเดือนตุลาคม ตัวอ่อนจะแทะกินรากของต้นไม้นานประมาณ 4 เดือน เข้าสู่เดือนมีนาคมของปีต่อมาพวกเขาก็จะเริ่มหยุดกินอาหาร 

จากนั้นแมลงทับก็จะทำการสร้างปลอดดินหุ้มตัวเอาไว้ และฝังอยู่ใต้ดินลึกลงไป 5-10 เซนติเมตร ซึ่งระยะเวลาในการพักตัวนี้จะใช้เวลายาวนานกว่า 12-15 เดือนกันเลยทีเดียว 

แมลงทับ

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะดักแด้ในปลอกดินซึ่งจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน แมลงทับก็จะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย แต่ก็ยังไม่ได้โผล่พ้นดินออกมาในทันที ต้องรอไปอีกเกือบเดือนเลยทีเดียวกว่าพวกเขาจะพร้อมในการออกสู่โลกกว้าง เพราะต้องรอให้ปลีกมีความแข็งแรงมากพอเสียก่อน 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องรอให้ฝนตกหนักจนกระทั่งปลอกดินที่พวกเขาสร้างขึ้น ในช่วงเป็นหนอนละลายออกไปจนหมด ดังนั้นช่วงเวลาส่วนใหญ่ของแมลงทับจึงหมดไปกับการเป็นหนอนและการอาศัยอยู่ในดิน พอโตเต็มวัย มีปีกสวยงาม ก็ได้เฉิดฉายอยู่บนโลกได้ประมาณ 3 สัปดาห์เท่านั้น 

นอกจากนี้ประชากรของพวกเขายังขึ้นอยู่กับปริมาณฝนอีกด้วย ถ้าฝนน้อยก็จะมีจำนวนน้อยลง ถ้าฝนตกหนักในปีไหน ปีนั้นเราก็จะพบพวกเขาได้มากขึ้นกว่าเดิม 

พฤติกรรม

แมลงทับ

แมลงทับเป็นแมลงขนาดใหญ่ที่ดูอุ้ยอ้าย แต่ความจริงแล้วพวกเขาสามารถบินได้อย่างรวดเร็ว แถมยังบินได้สูงเป็นพิเศษอีกด้วย เวลาที่พวกเขาถูกรบกวนหรือรู้สึกถึงอันตราย พวกเขาจะแกล้งตายด้วยการอยู่นิ่ง ๆ หรือบางตัวที่เล่นใหญ่หน่อยก็อาจจะปล่อยตัวตกลงมาจากต้นไม้ เพื่อให้ศัตรูเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาตายเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง 

แมลงทับ จากแมลงสู่วัสดุเพิ่มความสวยงามที่คงทนยาวนานนับร้อยปี 

แมลงทับ

แมลงทับ เป็นแมลงที่สวยงามเป็นอย่างมาก ดังนั้นในหลายชนชาติ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยของเราเอง จึงนิยมนำเอาพวกเขามาใช้เป็นวัสดุสำหรับการทำงานหัตถกรรม ในปัจจุบันมูลนิธิศิลปาชีพหรือที่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าสถาบันสิริกิติ์ 

ได้มีการรวบรวมเอาปีกของแมลงทับที่ตายตามธรรมชาติ มาประดิษฐ์เป็นของตกแต่ง เครื่องแต่งกาย หรือของประดับ เนื่องจากมันมีความสวยงาม ไม่เพียงเท่านั้นยังแข็งแรงทนทานเป็นอย่างมาก สามารถอยู่ได้ยาวนานนับร้อยปีโดยที่ไม่เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติแต่อย่างใด 

ดังนั้นจึงได้มีการเสริมสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน ด้วยการเก็บปีกแมลงที่ตายแล้วมาทำเป็นงานศิลปะเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องเก็บปีกจากแมลงที่ตายเองตามธรรมชาติเท่านั้น ห้ามจับตัวมาฆ่าแล้วเด็ดปีกออก 

เพราะอายุของพวกเขาขณะที่เป็นแมลงนั้นสั้นเป็นอย่างมาก หากไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ ในอนาคตพวกเขาก็จะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment