ควายป่า สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ที่ใกล้จะสูญพันธุ์

by animalkingdom
641 views
ควายป่า

คำว่า โง่เหมือนควาย เป็นคำที่ถูกใช้เปรียบเปรยในแง่ลบมาอย่างยาวนาน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ว่าจะ ควายเลี้ยง หรือ ควายป่า ต่างก็เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้พวกเขายังไม่ได้โง่เหมือนกับที่มนุษย์กล่าวอ้างอีกด้วย แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ในปัจจุบันแม้แต่ควายเลี้ยงก็ยังมีจำนวนลดน้อยลงไปเนื่องจากมีราคาสูงและมีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ไม่ต้องพูดถึงควายที่อาศัยอยู่ป่าตามธรรมชาติ เพราะปัจจุบันพวกเขานั้นอยู่ในสถานะที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มทน ด้วยเหตุนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับควายป่า ก่อนที่พวกเขาจะไม่อยู่ให้เราได้เห็นอีกต่อไป

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับควายป่า สัตว์ขนาดใหญ่ที่มีพฤติกรรมน่าสนใจ 

ควายป่า

ควายป่า หรืออีกหนึ่งชื่อเล่นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนอย่าง มหิงสา ลักษณะโดยทั่วไปของพวกเขานั้นไม่ต่างอะไรจากควายบ้าน พวกเขาจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ หากเปรียบเทียบกับควายเลี้ยงแล้ว พวกเขานั้นจะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว 

พวกเขาเป็นสัตว์กีบคู่ที่ตัวหนึ่งสามารถมีน้ำหนักเฉลี่ยได้ถึง 1 ตันเลยทีเดียว เมื่อโตเต็มวัยสามารถสูงได้ถึง 2 เมตร ถึงแม้ว่าควายป่าจะเป็นสัตว์กินพืชแถมมีขนาดตัวที่ใหญ่โตจนน่าจะเคลื่อนไหวได้อย่างเชื่องช้า แต่ความจริงแล้วพวกเขามีความคล่องแคล่วว่องไวเป็นอย่างมาก แถมยังมีนิสัยที่ดุร้ายอีกด้วย

ผิวหนังของพวกเขานั้นจะเป็นสีน้ำตาลดำหรือสีเทาอมดำ ขาทั้ง 4 ข้างจะมีขนสีขาวหรือสีเทาบริเวณส่วนล่างตั้งแต่เท้ามาจนถึงกระดูกหัวเข่าเหมือนกับกำลังใส่ถุงเท้าอยู่ บริเวณส่วนล่างของลำคอยาวมาจนถึงหน้าอก จะมีลายสีขาวเป็นรูปตัววีพาดอยู่ 

พวกเขามีเขาที่งอกออกมาจากขมับทั้ง 2 ขนาดใหญ่ และที่สำคัญพวกเขายังไม่มีการผลัดเขาอีกด้วย ปัจจุบันจำนวนประชากรรวมทั่วทั้งโลกของควายป่านั้น มีอยู่ไม่เกิน 4,000 ตัวเท่านั้น ส่วนในประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ที่เราหลงเหลือพวกเขาอยู่ตามธรรมชาติเพียงแค่ 60 ตัวเท่านั้น 

ควายป่า

ถิ่นที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์

ควายป่า กระจายพันธุ์ในแถบทวีปเอเชียโดยเฉพาะในประเทศอินเดียและเนปาล ยาวลงมาจนถึงในประเทศเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยนั้นอดีตพวกเขาเคยอาศัยอยู่ในบ้านลานกระบือจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเราจะสามารถพบพวกเขาได้เฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานีเท่านั้น 

โดยบริเวณที่มีพวกเขาอยู่กันอย่างหนาแน่นที่สุด จะอยู่ในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย บริเวณอุทยานแห่งชาติกาจิรังคา โดยพบเป็นจำนวนประมาณ 1,700 ตัว บริเวณที่พบพวกเขาได้จะเป็นป่าโปร่งอย่างป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้าโล่งกว้างที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ เนื่องจากพวกเขาชื่นชอบการแช่น้ำในตอนกลางวันเป็นอย่างมาก 

พฤติกรรมและการอยู่อาศัย

พวกเขานั้นมีพฤติกรรมที่น่าสนใจมากกว่าการเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ตัวใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ควายป่ายังมีความสามารถในการว่ายน้ำอีกด้วย พวกเขาเป็นสัตว์ที่มีดวงตาขนาดเล็กเป็นอย่างมากและส่งผลให้พวกเขาสายตาไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ 

แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็มีประสาทการรับกลิ่นและเสียงที่ไวเป็นอย่างมาก มันช่วยพวกเขาสามารถเอาชีวิตรอดท่ามกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยศัตรูมากมาย ตัวเมียมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 8 ตัวไปจนถึง 10 ตัว จ่าฝูงจะเป็นตัวเมียที่มีอายุมากที่สุด 

ตัวผู้หลังจากโตเต็มวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็จะออกหากินตามลำพังโดยจะเรียกกันว่า ควายโทน ในช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมีการกลับเข้าฝูงอีกครั้งเพื่อผสมพันธุ์กับตัวเมีย อายุเฉลี่ยของพวกเขานั้นจะอยู่ที่ประมาณ 20 ปีไปจนถึง 25 ปี 

รับมืออย่างไรเมื่อควายป่าฝูงสุดท้ายในประเทศไทยกำลังมีจำนวนลดลง 

ควายป่า

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ ควายป่า ในประเทศไทยนั้นละจำนวนลงเหลือเพียงแค่ 60 ตัว ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์เป็นพิเศษ โดยในประเทศไทยพวกเขาเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ในจำนวน 15 ชนิด และยังอยู่ในอนุสัญญาไซเตสประเภทที่ 3 อีกด้วย 

ภัยคุกคามที่ทำให้พวกเขานั้นไม่สามารถดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์ได้ตามเดิม เกิดมาจากพืชต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานพื้นที่หากินของพวกเขาจนทำให้พืชท้องถิ่นหายไปหมด ส่งผลให้พวกเขาต้องมีการเปลี่ยนที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ในการหากินน้อยลง อาหารก็ลดน้อยลงด้วย 

เมื่อจำนวนน้อยลงก็ส่งผลเป็นปัญหาลูกโซ่ เพราะพวกเขานั้นต้องผสมพันธุ์กันเองภายในเครือญาติที่ใกล้ชิด ลูกหลานที่ออกมาก็มีปัญหาเลือดชิดจนทำให้อ่อนแอและภูมิคุ้มกันต่ำ การเลี้ยงควายบ้านเองก็ทำให้เกิดปัญหาการแย่งพื้นที่หาอาหารของควายป่าด้วยเช่นเดียวกัน 

มีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่าและควายเลี้ยง จนทำให้พันธุกรรมเปลี่ยนแปลงและมีโอกาสในการติดโรคได้มากขึ้นกว่าเดิม และปัญหาสำคัญที่ยังคงพบมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การล่าผิดกฎหมาย นั่นเอง 

ควายป่า

ปัจจุบันในประเทศไทยมีการรับมือกับสถานการณ์ ควายป่า ที่ลดลงจนน่าเป็นห่วงผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งหมด 4 โครงการประกอบไปด้วย 

– โครงการสถาบันสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลสุขภาพของสัตว์ป่า ทั้งในบริเวณที่อยู่อาศัยและนอกที่อยู่อาศัย เพื่อให้สามารถดำรงความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปได้อย่างยั่งยืน 

– โครงการธนาคารพันธุกรรมสัตว์ป่า จัดตั้งขึ้นมาสำหรับการฟื้นฟูและดำรงพันธุกรรม ให้พวกเขานั้นสามารถดำรงเผ่าพันธุ์สายพันธุ์แท้ที่แข็งแรงต่อไปได้ โดยมีการจัดเก็บเซลล์พันธุกรรมของควายป่าเอาไว้เป็นอย่างดี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต 

– โครงการเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่า ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการสอบสวนและเฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่า 

– โครงการศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าให้เกิดความยั่งยืน 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment