กุ้งกุลาดำ

by animalkingdom
535 views
กุ้งกุลาดำ

ใครที่ชอบกินกุ้งมาทางนี้ค่ะ วันนี้ Animal kingdom จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ กุ้งกุลาดำ กุ้งที่นำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง แถมยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกด้วย กุ้งชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไร ตาม Animal kingdom ไปทำความรู้จักพวกมันพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ข้อมูลทั่วไป

กุ้งกุลาดำ หรือมีอีกชื่อว่า กุ้งม้าลาย เป็นกุ้งทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ Penaeidae ซึ่งมีขนาดประมาณ 18-25 เซนติเมตรโดยชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมันนั้นแตกต่างกันอยู่หลายชื่อ ตามนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสัตว์น้ำชนิดนี้ แต่ชื่อที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปคือ Penaeus monodon Frabricius 

กุ้งกุลาดำ

ลักษณะทั่วไปของกุ้งกุลาดำ

กุ้งกุลาดำมีหนวดลายจางมองไม่เด่นชัด แก้มจะอยู่ในแนวระนาบ สันที่อยู่สองข้างของโคนกรีจะยาวไปเกือบถึงฟันกรีหลังสุด โดนสันแนวข้างของสัตว์น้ำชนิดนี้จะเฉียงชี้ไปทางนัยน์ตา ส่วนลักษณะเด่นของกุ้งสายพันธุ์นี้คือ ลำตัวที่เป็นสีแดงอมน้ำตาลและมีเปลือกที่แข็งไม่มีขน โดยจะมีลายพาดอยู่ด้านหลังประมาณ 9 ลาย สีออกน้ำตาลเข้มอยู่ข้างแถบสีขาว ส่วนด้านบนของกรีจะมีฟันอยู่ 6-8 ซี่ ส่วนข้างล่างมี 2-4 ซี่ สันกรีของมันจะยาวตรงขนานไปกับลำตัว ขาเดินเป็นสีแดงปนดำ ส่วนขาว่ายน้ำจะเป็นสีน้ำตาลปนน้ำเงินมีโคนสีขาว ส่วนขาเดินคู่ที่ 5 ไม่มี exopod

กุ้งกุลาดำ

การสืบพันธุ์

กุ้งเป็นสัตว์น้ำที่มีอวัยวะเพศภายนอกที่มองเห็นได้ชัด โดยอวัยวะเพศของเพศผู้จะเรียกว่า Ptasma เป็นการเกิดจากการเปลี่ยนแขนงของขาว่ายน้ำคู่แรกทั้ง 2 ข้างเชื่อมติดกัน ส่วนของเพศเมียเรียกว่า Phelycum เกิดจากการเปลี่ยนของผนังหน้าท้องของระยางค์อกปล้องที่ 7 และ 8 หรือบริเวณที่ตรงกับขาคู่ที่ 4 ไปถึงขาคู่ 5 พัฒนาไปเป็นถุงรับน้ำเชื้อ เมื่ออวัยวะที่ใช้ในการผสมพันธุ์พัฒนาเต็มที่สำหรับการผลิตน้ำเชื้อและไข่ พวกมันก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์กันทันที ซึ่งจะใช้อวัยวะภายนอกจำพวก Penaeids ของเพศเมียและเพศผู้ เมื่อสัตว์น้ำชนิดนี้ลอกคราบเพื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ทั้ง 2 เพศ การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นหลังจากที่กุ้งกุลาดำเพศเมียลอกคราบใหม่ 

ถิ่นอาศัย

กุ้งกุลาดำเป็นสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย ส่วนในไทยจะกระจายพันธุ์ทั่วไปในอ่าวไทย แต่จะพบมากที่เกาะช้าง โดยพวกมันจะอาศัยอยู่ที่บริเวณพื้นดินที่จะเป็นทรายปนโคลน ส่วนแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของมันจะอยู่ในทะเลแถบแอฟริกาตะวันออกและทางตะวันตกเฉียงใต้ และอยู่ทางแถบทะเลอินโดแปซิฟิกตะวันตกกับคาบสมุทรอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment