หากพูดถึงปลาที่ได้รับความนิยมในการประกอบอาหารมากที่สุดสำหรับประเทศไทย หนึ่งในนั้นต้องมี ปลานิล แต่ทราบหรือไม่ว่าความจริงแล้ว ปลาสายพันธุ์นี้ไม่ได้มีต้นกำเนินอยู่ในประเทศไทย แม้ว่าเราจะรับประทานพวกมันอยู่เป็นประจำก็ตาม แต่พวกมันกลับมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแม่น้ำไนล์เลยทีเดียว วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปลาพระราชทานสายพันธุ์นี้กันว่า พวกมันมีความเป็นมาอย่างไรและจะน่าสนใจขนาดไหน ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับปลานิล สัตว์สร้างรายได้ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
ปลานิล ปลาน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาหมอสี เป็นปลาที่กระจายพันธุ์ได้ง่ายและค่อนข้างได้รับความนิยมในการรับประทาน เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี หลายคนเข้าใจผิดว่าพวกมันเป็นปลาพื้นบ้านในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพวกมันอยู่บริเวณทวีปแอฟริกาทางตอนเหนือ
ทั้งในเลบานอน อิสราเอล ซูดาน อูกันดา แพร่กระจายไปทั่วทั้งเขตแม่น้ำไนล์ ถึงอย่างนั้นก็มีสายพันธุ์ต่างถิ่นเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ปลาสายพันธุ์นี้สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด
การนำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกเกิดขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะฮิกิโตะ ในสมัยที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารในญี่ปุ่น มีการนำปลานิลเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 25 มีนาคม 2508 เป็นจำนวนกว่า 50 ตัว
ตอนนั้นรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการทดลองเลี้ยงในสวนจิตรลดาก่อน เมื่อพบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีและกระจายสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จึงได้พระราชทานชื่อใหม่เป็นปลานิลที่มีที่มาจากแม่น้ำไนล์ มีการมอบพันธุ์ปลาดังกล่าวให้ทางกรมประมงจำนวนกว่า 10,000 ตัวในปีต่อมา เพื่อนำไปเพาะพันธุ์และแจกจ่ายให้กับเหล่าพสกนิกร
โดยทั่วไปแล้วปลานิลจะมีความคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ แตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่พวกมันจะมีจุดสีขาวและสีดำสลับกันไปตามเกล็ด ตามลำตัวโดยส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวและมีลายดำพาดตามลำตัว เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร และมีน้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย
อาหารและความเป็นอยู่ของปลานิล
ปลานิลเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่ายเพราะกินได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตะไคร่น้ำ ไรน้ำ กุ้งฝอย ตัวอ่อนแมลง รวมถึงพืชผักทั่วไป ถือเป็นปลาที่เพาะพันธุ์และเลี้ยงได้ง่ายเป็นอย่างมาก ปกติแล้วพวกมันจะอยู่รวมตัวกันเป็นฝูง ยกเว้นเฉพาะเวลาผสมพันธุ์
พวกมันมีความแข็งแรงทนทานและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี มีการวิจัยพบว่าพวกมันสามารถทนความเค็มได้มากกว่า 20 ส่วนต่อ 1,000 สามารถทนค่าความเป็นกรดเป็นด่างได้ตั้งแต่ 6.5 ไปจนถึง 8.3 และยังทนอุณหภูมิได้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสด้วย
ลักษณะการสืบพันธุ์และการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิล
ปลานิลเป็นปลาที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในการเลี้ยงเชิงปศุสัตว์ เพราะพวกมันมีความแข็งแรงทนทานและสามารถแพร่กระจายสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในแต่ละครั้ง หากมีอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในช่วง 1 ปีจะสามารถผสมพันธุ์ได้มากกว่า 5 ครั้งเลยทีเดียว
วิธีการจีบปลาตัวเมียนั้น ตัวผู้จะเอาหน้าผากตัวเองดุนบริเวณใต้ท้องของตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้ตัวเมียวางไข่ หลังจากนั้นตัวเมียก็จะวางไข่ออกมาครั้งละประมาณ 10 ฟอง ส่วนตัวผู้ก็จะทำหน้าที่ปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ จนกว่าการผสมพันธุ์จะจบลง
ส่วนไข่ที่ผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ตัวเมียก็จะอมไว้ในปากแล้วว่ายไปแถวก้นบ่อที่ลึกกว่าเพื่อความปลอดภัย ใช้เวลาประมาณ 5 วันไข่ก็จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัวและกินอาหารจากถุงไข่แดงบริเวณท้องของตัวเอง
จนถึงตอนนี้แม่ปลานิลก็ยังคงอมลูกปลาเอาไว้ในปากเหมือนเดิม จนกว่าไข่แดงของลูกปลาจะหายไปจนหมด ถึงจะคายออกมาในอีกประมาณ 3-4 วัน ช่วงนี้ลูกปลาก็จะกินไรน้ำหรือพืชขนาดเล็กแล้วว่ายไปมาบริเวณหัวของแม่
บางครั้งหากเกิดอันตรายก็จะเข้าไปหลบในปากแม่ได้ด้วย หลังจากมีอายุครบ 1 สัปดาห์ ปลานิลเด็กเหล่านี้ก็จะหย่าปากแม่อย่างจริงจัง แต่ถึงอย่างนั้นแม่ปลาก็ยังคงคอยอยู่ดูแลลูกและป้องกันศัตรูให้อยู่เสมอ จนอายุครบ 3 สัปดาห์ พวกมันถึงจะรู้วิธีการหากินด้วยตัวเอง
ปลานิล โปรตีนราคาประหยัด สู่สัตว์พยุงเศรษฐกิจของไทย
ปลานิลเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก การเริ่มต้นเพาะพันธุ์เพื่อเลี้ยงและบริโภคอย่างจริงจังเริ่มต้นขึ้นในปี 2517 ปลาจากฟาร์มสามารถสร้างรายได้ให้กับเหล่าเกษตรกรได้สูงถึง 107,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ในปัจจุบันประเทศไทยของเรามีผลผลิตปลานิลประมาณ 220,000 ตันในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านบาท และนับว่าเป็นปลาที่สามารถส่งออกสร้างรายได้ได้สูงกว่าปลาสายพันธุ์อื่นด้วย
ที่สำคัญคือ พวกมันเป็นปลาที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงมีประชากรร่วมล้านคนที่ทำงานเกี่ยวกับฟาร์มปลาร่วม 300,000 แห่งทั่วประเทศไทย ในปัจจุบันเรายังคงส่งออกปลาสายพันธุ์นี้ไปยังต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง รวมถึงในเอเชียเองก็ตาม
โดยสภาพยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับปลาสายพันธุ์นี้ ส่งออกถึงปีละ 7,700 ตัน ต่อมาในปี 2549 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้รายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตปลานิลได้สูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์เท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นเรายังมีการพัฒนาสายพันธุ์ออกอีก 3 สายพันธุ์ด้วย ประกอบไปด้วย
- สายพันธุ์แดง เป็นการนำเอาไปผสมข้ามสายพันธุ์ร่วมกับปลาหมอเทศโดยศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดในจังหวัดขอนแก่นและอุบลราชธานี ทำให้ได้ปลาที่มีลำตัวเป็นสีขาวอมแดง
- ปลาทับทิม เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีความแข็งแรงทนทานและสามารถเลี้ยงในน้ำกร่อยได้ เนื้อจะแน่นและมีรสชาติที่อร่อยกว่าปลาธรรมดาทั่วไป
- สายพันธุ์ซุปเปอร์เมล เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการดัดแปลงโครโมโซมเพื่อให้ได้ออกมาเป็นปลาตัวผู้ทั้งหมด ส่งผลให้ผลผลิตในแต่ละไร่สูงกว่าปลาสายพันธุ์ธรรมดาทั่วไป
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me