นกตีทอง นกที่มีเสียงร้องคล้ายกับช่างตีทอง บทเพลงจากธรรมชาติ

by animalkingdom
72 views
นกตีทอง

ลำพังแค่เราใช้ชีวิตในเมืองก็มีโอกาสได้เจอกับนกมากมายหลากหลายสายพันธุ์ แต่ถ้าคุณเดินทางไปท่องเที่ยวธรรมชาติจะมีโอกาสได้เจอกับนกมากกว่าในเมืองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนกตีทอง นกตัวเล็กที่มาพร้อมกับสีสันสดใสและเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์เหมือนกับช่างตีทองจนกลายมาเป็นที่มาของชื่อ พวกมันเป็นใครมาจากไหนและมีความน่าสนใจอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับนกสายพันธุ์นี้กัน 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับนกตีทอง นกที่มีสีสันสวยงามและเสียงร้องเหมือนช่างตีทอง

นกตีทอง หรือที่ถูกเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า นกโพระดก พวกมันจัดเป็นนกเล็กที่สุดในวงศาคณาญาติ ตามลำตัวปกคลุมไปด้วยขนสีเขียว ไล่ตั้งแต่เขียวแก่ไปจนถึงเขียวอ่อนสดใส บริเวณคอจะมีขนอยู่ 2 สี ด้านบนเป็นสีแดง ส่วนด้านล่างเป็นสีเหลือง บริเวณหน้าอกและท้องขนจะมีสีอ่อนกว่าลำตัว บริเวณขอบตาจะถูกปกคลุมด้วยขนสีเหลือง ครอบทับด้วยขนสีดำ และบริเวณจมูกไปจนถึงหน้าผากจะเป็นขนสีแดง

จากที่ได้กล่าวถึงลักษณะไปข้างต้น ทำให้นกตีทองเป็นที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนชอบดูนกไม่น้อย พวกมันจะมีเสียงร้องดังป๊อก ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอกันคล้ายกับเสียงช่างเวลาตีทอง มันจึงกลายเป็นที่มาของชื่อเล่นพวกมันนั่นเอง แต่นกสายพันธุ์นี้ไม่ได้เอาจะงอยปากเจาะไม้เหมือนกับนกหัวขวานแต่อย่างใด พวกมันเพียงแค่ทำเสียงเหมือนกำลังเจาะไม้อยู่เท่านั้น

นกสายพันธุ์นี้จะเข้าไปทำรังอาศัยอยู่ในโพรงไม้ กินอาหารเป็นผักผลไม้ ส่วนใหญ่จะกินลูกไทรเป็นหลัก แต่บางครั้งก็สามารถเสริมโปรตีนด้วยการกินแมลงได้เช่นกัน โดยแมลงที่โปรดปรานคือ แมลงเม่าหรือปลวกนางพญาทั้งหลาย 

สำหรับในประเทศไทย นกตีทองจัดว่าเป็นสัตว์คุ้มครอง เราจึงไม่สามารถล่า ทำการค้า ครอบครอง นำเข้าหรือส่งออก เก็บหรือทำอันตรายต่อรัง รวมไปถึงการเพาะพันธุ์ โดยการคุ้มครองจะครอบคลุมไปถึงไข่และซากของพวกมันด้วย

ศึกษาพฤติกรรมที่น่าสนใจของนกตีทอง

นกตีทอง

นกตีทองมีพฤติกรรมสัตว์ที่น่าสนใจมากกว่าแค่เสียงร้องที่คล้ายกับช่างกำลังตีทองอยู่เท่านั้น แต่พวกมันยังสามารถส่งเสียงร้องเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอกันได้มากถึง 121 ครั้งต่อนาทีเลยทีเดียว นอกจากนี้เวลาร้องยังไม่อ้าปากอีกด้วย แต่จะใช้วิธีการพองหนังบริเวณลำคอทั้งสองข้างแล้วยุบลงเพื่อให้เกิดเสียง และพวกมันยังไม่ร้องในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย

นกตีทองเป็นสัตว์ที่จะอยู่ตัวเดียวหรืออยู่เป็นคู่ บางครั้งอาจพบเห็นเป็นฝูงขนาดเล็กบ้าง และฝูงเล็ก ๆ อาจรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่บริเวณต้นไทรที่ออกผลดก หากใครอยากเห็นพวกมันเราขอแนะนำให้เข้าป่าตอนเช้า ๆ เพราะพวกมันชอบตากแดดเช้าเป็นอย่างมาก โดยจะเกาะอยู่บนกิ่งต้นไม้สูงเพื่อรับแสงแดด

นกตีทอง

แม้ว่าจะตัวเล็ก แต่นกตีทองก็มีเลือดนักสู้เช่นกัน เพราะมีสัตว์ตามธรรมชาติมากมายที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้เหมือนกัน พวกมันจึงมักจะต้องแย่งรังกับสัตว์กินผลไม้หรือนกสายพันธุ์อื่นอยู่เสมอ ใครโชคดีอาจมีโอกาสได้เห็นพวกมันตีกับนกปรอดเพื่อแย่งโพรงไม้ได้ด้วย

พฤติกรรมการจีบกันของนกสายพันธุ์นี้มีความน่ารักเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันจะร้องเพลง เต้นรำด้วยการสะบัดหางและผงกหัว นอกจากนี้ยังมีการไซ้ขนให้กันหรือหาอาหารให้กันอีกด้วย พวกมันสามารถผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน หลังจากวางไข่แล้วพวกมันก็จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการฟักไข่ให้ออกมากลายเป็นลูกนก

ทำความรู้จักกับสายพันธุ์ย่อยของนกตีทอง และถิ่นที่อยู่ที่สามารถพบได้

นกตีทอง

นกตีทองเป็นสัตว์ป่าที่พบได้ทั่วไปในแถบทวีปเอเชียใต้ มักพบบริเวณเทือกเขาฆาฏตะวันตกในประเทศอินเดีย และยังสามารถพบได้ทั้งในประเทศปากีสถาน ศรีลังกา จีน ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ไปจนถึงอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยจะพบได้ในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ทางตะวันตกเท่านั้น 

ในแต่ละสายพันธุ์ย่อยก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วมักจะมีขนเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินคล้าย ๆ กัน โดยเราสามารถแบ่งนกตีทองออกเป็น 9 สายพันธุ์ย่อย ประกอบไปด้วย

  1. สายพันธุ์ต้นแบบ Haemacephala สามารถพบได้ในหมู่เกาะลูซอนรวมถึงมินโดโร ประเทศฟิลิปปินส์
  2. พันธุ์ย่อย Indica สามารถพบได้ในประเทศอินเดียตอนใต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน ไปจนถึงประเทศศรีลังกา เวียดนาม และไทย
  3. พันธุ์ย่อย Delica สามารถพบได้ในเกาะสุมาตรา
  4. พันธุ์ย่อย Rosea สามารถพบได้ในเกาะชวา
  5. พันธุ์ย่อย Homochroa สามารถพบได้ในประเทศฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะทาบลาส
  6. พันธุ์ย่อย Celestinoi สามารถพบได้ในประเทศฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะซามาร์ เลย์เต บิลิรัน และคาตันดัวเนส
  7. พันธุ์ย่อย Intermedia สามารถพบได้ในประเทศฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะปาไนย์ เนกรอส และกิวมาราส
  8. พันธุ์ย่อย Cebuensis สามารถพบได้ในประเทศฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะเซบู
  9. พันธุ์ย่อย Mindanensis สามารถพบได้ในประเทศฟิลิปปินส์ บริเวณเกาะมินดาเนา

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment