บนโลกใบนี้มีนกมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่ขนาดเล็กอย่าง “ฮัมมิ่งเบิร์ด” หรือนกขนาดใหญ่ที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้อย่าง เหยี่ยวแดง พวกเขามีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่หากเทียบกับนกสายพันธุ์อื่น มาพร้อมกับรูปร่างหน้าตาที่ดูน่าเกรงขาม ที่สำคัญพวกเขายังมีนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย จึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์ไม่น้อยเลยทีเดียว และในประเทศไทยของเรา ก็มีพวกเขาอยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งคุณเองก็อาจจะเคยเห็นพวกเขาบ้าง หากได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามธรรมชาติ สำหรับใครที่สนใจวันนี้ Animalkingdom จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขากัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับเหยี่ยวแดง นกนักล่าผู้น่าเกรงขาม
เหยี่ยวแดง เป็นสัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่มีลักษณะรูปร่างภายนอกน่าเกรงขามเป็นอย่างมาก แต่หากเทียบกับสายพันธุ์เดียวกันแล้ว พวกเขายังจัดอยู่ในขนาดกลาง ตัวเมียจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตัวผู้ วัดความยาวจากปลายจะงอยปากไปจนถึงปลายหางได้ประมาณ 50 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวผู้นั้นจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 45 เซนติเมตรเท่านั้น พวกเขามีรูปร่างที่ค่อนข้างล่ำสัน กรงเล็บขนาดใหญ่แต่แข็งแรง หัวใหญ่โตแต่ก็มีความยาวเรียวรี ดวงตาทรงอัลม่อนขนาดใหญ่ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถมองเห็นในระยะไกลได้อย่างชัดเจน ปากเป็นสีขาวที่มีจะงอยงุ้มลงอย่างเห็นได้ชัดและมีความแหลมคมเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ในการฉีกกระชากเหยื่อ ในขณะที่จะงอยปากล่างนั้นจะสั้นกว่า
เมื่อพวกเขาหุบปากสนิทปากด้านล่างจะถูกซ่อนเอาไว้ด้วยปากด้านบนแบบพอดี พวกเขามีขนตามลำตัวเป็นสีขาวสลับกับลวดลายขีดสีดำ ปีกและหางจะเป็นสีแดงเลือดหมูซึ่งเป็นที่มาของชื่อพวกเขานั่นเอง พวกเขามีกรงเล็บที่แหลมคมเป็นอย่างมาก ใช้ในการแทงทะลุตัวเหยื่อได้หรือจะใช้ในการจับขยุ้มเหยื่อก็ได้เช่นเดียวกัน สามารถทำให้เหยื่อได้รับบาดเจ็บหรืออาจจะเสียชีวิตได้ในทันที
เมื่อโตเต็มวัยพวกเขาจะมีขนาดตัวที่ไม่ต่างจากตอนที่ยังโตไม่เต็มวัยสักเท่าไหร่ สมัยที่พวกเขายังเป็นเด็กดูผิวเผินจะมีความคล้ายคลึงกับเหยี่ยวทุ่งหรือเหยี่ยวดำเป็นอย่างมาก การแยกความแตกต่างจึงทำได้ค่อนข้างยาก ต้องสังเกตจากลักษณะของปีกและหางรวมไปถึงท่าทางการบิน เวลาบินพวกเขาจะกางปีกออกจนเกือบจะอยู่ในระดับที่เท่ากับลำตัว การบินค่อนข้างช้า จะใช้การกระพือปีกสลับกับการร่อนไปในอากาศเรื่อย ๆ เพื่อลดการใช้แรง เมื่อพวกเขาบินจนเหนื่อยก็จะร่อนลงไปเกาะพักตามต้นไม้สูงริมน้ำ ส่วนใหญ่มักจะเลือกต้นไม้ที่มีกิ่งแห้งหรือต้นไม้ที่ตายแล้ว เราจึงมักจะได้เห็นพวกเขาเกาะอยู่ตามต้นไม้สูงบริเวณป่าชายเลนอยู่เป็นประจำ พอหายเหนื่อยหรือเริ่มหิวพวกเขาก็จะออกบินเพื่อล่าเหยื่ออีกครั้ง พวกเขาเป็นสัตว์นักล่าที่สามารถพบได้บ่อยในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ตามแม่น้ำสายใหญ่หรือปากแม่น้ำที่จะไหลลงทะเล รวมไปถึงตามหมู่เกาะริมชายฝั่งทะเล
ดังนั้น ใครที่เดินทางไปเที่ยวภาคใต้ ก็มักจะเห็นพวกเขาตามท่าเรืออยู่บ่อยครั้ง เพราะพวกเขาเป็นสัตว์กินเนื้อที่มักจะล่าปลาเป็นอาหารหรือกินซากสัตว์ที่ลูกเรือทิ้งลงน้ำ เวลาอยู่บนเรือเรามักจะเห็นพวกเขาบินไปมาเพราะรอกินซากสัตว์นั่นเอง พวกเขาสามารถจับปลาได้โดยที่ตัวไม่เปียกน้ำเลยแม้แต่น้อยหากเป็นซาก แต่หากเป็นปลาเป็น ๆ พวกเขาจะทิ้งตัวลงผิวน้ำโดยที่ไม่ต้องชะลอความเร็ว ก่อนใช้กรงเล็บจับเหยื่อโดยที่ตัวไม่ต้องแตะน้ำเลยแม้แต่น้อยเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นก็จะรีบบินขึ้นฟ้าแล้วเอี้ยวตัวลงมาใช้จะงอยปากฉีกกินเหยื่อกลางอากาศจนหมด ในขณะเดียวกันในบางครั้งพวกเขาก็จะล่าเหยื่อตัวเล็กบนพื้นดินอย่างเช่น งู กบหรือเขียดเช่นเดียวกัน เสียงของพวกเขาที่เรามักได้ยินตามสื่อบันเทิงโดยเฉพาะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเสียงของพวกเขาแต่อย่างใด เพราะเสียงนกสายพันธุ์นี้นั้นจะเป็นเสียงที่เล็ก เบา ขึ้นจมูก ซึ่งเราจะได้ยินเสียงพวกเขาบ่อยขึ้นในช่วงผสมพันธุ์ ในประเทศไทยของเราสามารถพบพวกเขาได้ตามระดับน้ำทะเลและที่ราบต่ำจนถึงระดับความสูงกว่า 1.8 พันเมตรเหนือระดับน้ำทะเลเลยทีเดียว
เหยี่ยวแดง สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์
เหยี่ยวแดง เป็นสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในประเทศไทย เราสามารถพบเห็นพวกเขาได้ตั้งแต่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย รวมไปถึงในกรุงเทพฯ เองก็ตาม น่าเสียดายที่ในช่วงหลังมานี้ พวกเขาเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก จนไม่สามารถพบเห็นในภาคเหนือได้อีกต่อไปแล้ว ปัจจุบันพวกเขานั้นนับเป็นสัตว์หายากและถือว่าเป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่สามารถครอบครองหรือขยายพันธุ์สัตว์ได้ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ถึงอย่างนั้นด้วยความสวยงามของพวกเขา จึงทำให้มีการลักลอบจับพวกเขาออกมาจากรังอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ที่พวกเขายังเป็นนกเล็กอยู่ ทางที่ดีหากคุณเห็นพวกเขาได้รับบาดเจ็บหรือเห็นพวกเขาตกลงมาจากรัง ให้ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดีที่สุด เพื่อที่คุณนั้นจะได้ไม่เป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย และอย่าลืมรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี เพราะการที่พวกเขามีจำนวนน้อยลงนั้น ส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง