คนไทยนิยมนำเอาชื่อสายพันธุ์สัตว์มาใช้เป็นคำเสียดสีเหน็บแนม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วสัตว์เหล่านั้นไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยแม้แต่น้อย อย่าง ชะนี พวกมันเป็นสัตว์ที่มาพร้อมกับความฉลาดหลักแหลมและมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก อาจจะติดนิดหน่อยตรงที่เสียงร้องของพวกมันค่อนข้างดังและน่ารำคาญไปสักหน่อย นอกจากนี้ยังพ้องเสียงกับคำว่า “ผัว” ในภาษาไทยอีกด้วย หลายคนเลยติดภาพจำพวกมันไปแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเสียงร้องของพวกมันเป็นเสียงร้องหาผัวอย่างที่เราใช้เสียดสีกันหรือไม่ เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เข้าสู่ป่าใหญ่ สัมผัสกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจของชะนี
ชะนี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร ถือเป็นลิงไม่มีหางที่นับว่าเป็นหนึ่งในสี่สายพันธุ์ลิงที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์เรามากที่สุด ซึ่งอีก 3 สายพันธุ์ที่เหลือจะประกอบไปด้วย กอลิล่า ชิมแปนซี และอุรังอุตัง
หากเทียบกับ 3 สายพันธุ์ที่เหลือแล้ว พวกมันถือว่ามีความใกล้เคียงกับมนุษย์น้อยที่สุด เพราะพวกมันยังมีเขี้ยวที่แหลมคมและแขนขาที่เรียวยาว มักใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้มากกว่าจะบนพื้นดิน นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์อันดับวานรที่มีแขนยาวมากที่สุดอีกด้วย
ปัจจุบันเราสามารถแบ่งชะนีออกได้เป็นทั้งหมด 4 สกุล 18 ชนิดย่อย โดย 10 ชนิดสามารถพบได้ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีก 2 ชนิดสามารถพบได้ทั้งในทางตอนใต้ของประเทศจีนและเอเชียใต้
สำหรับในประเทศไทยจะประกอบไปด้วยชะนีสายพันธุ์มือดำ สายพันธุ์มือขาว สายพันธุ์มงกุฎ และสายพันธุ์เซียมัง แต่ที่ลำบากก็คือ การจำแนกชนิดพวกมันนั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะการมองด้วยตาเปล่า ไม่สามารถแยกได้ด้วยสีขน เราจึงสามารถระบุชนิดได้จากเสียงหรือรหัสพันธุกรรมเท่านั้น
แม้แต่ตัวที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ ยังมีบางส่วนที่ไม่ทราบแหล่งกำเนิดด้วยซ้ำไป คาดการณ์ว่าน่าจะเกิดจากการที่พวกมันเป็นลูกผสม ที่ผ่านการผสมข้ามสายพันธุ์กันไปมา จนไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด และยังมีข้อสงสัยอีกด้วยว่า ชะนีที่อาศัยอยู่ในป่ามีลักษณะทับซ้อนกันทางสายพันธุ์เช่นเดียวกันหรือไม่ แต่ก็ไม่มีบันทึกว่าลูกผสมมีความผิดปกติอย่างเช่น การเป็นหมัน ทั้งในสวนสัตว์และในป่าเลยแม้แต่ตัวเดียว
พฤติกรรมและวิถีชีวิตของชะนี
ชะนีอาจเป็นสัตว์ตัวเล็กที่ดูไม่ได้แตกต่างจากลิงสักเท่าไหร่ แต่หากพูดถึงวิถีชีวิตของพวกมันแล้ว ถือว่าค่อนข้างแตกต่างจากลิงทั่วไปเหมือนกัน โดยปกติแล้วพวกมันมักจะอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวมากกว่าจะอยู่กันเป็นฝูง
เวลาจับคู่ยังจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต ใน 1 ครอบครัวจะมีสมาชิกตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปจนถึง 5 ตัว อายุขัยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 30 ปี โดยตัวเมียจะสามารถมีลูกได้ประมาณ 5 ตัว
เวลาเลี้ยงลูกอ่อนชะนีจะป้องกันเขตครอบครองของตัวเอง เพื่อไม่ให้สัตว์ตัวอื่นสามารถเข้ามารุกล้ำบริเวณที่อยู่อาศัยของพวกมันได้ โดยแต่ละครอบครัวก็จะอาศัยอยู่ในเขตครอบครองของใครของมันโดยเฉพาะ และจะใช้วิธีการประกาศเขตครอบครองด้วยการส่งเสียงร้อง
เสียงร้องของชะนีมีความแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ โดยปกติแล้วตัวเมียจะเป็นฝ่ายที่ส่งเสียงร้องขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะร้องขานรับต่อ พวกมันจะร้องอยู่นานมากที่สุดถึง 30 นาทีเลยทีเดียว เวลาเข้าป่าเราจึงมีโอกาสได้ยินเสียงพวกมันร้องตอบโต้กันไปมาดังก้องไปทั่วป่า
พฤติกรรมที่น่าสนใจของชะนีคือ ความสามารถในการห้อยโหนต้นไม้ พวกมันสามารถโหนตัวเองจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่วและว่องไว จากแขนที่ยาวและมือที่แข็งแรง อาหารโปรดของพวกมันโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นพืชผักผลไม้ แถมยังสามารถกินทั้งใบไม้และดอกไม้ได้ด้วย
บางครั้งพวกมันก็จะจับสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงกินเพื่อเพิ่มโปรตีน ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่บนต้นไม้ จะลงมาบนพื้นก็ต่อเมื่อเวลาดื่มน้ำหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น บางทีพวกมันยังสามารถดื่มน้ำโดยล้วงจากโพรงไม้หรือเลียตามใบไม้ แทนที่จะลงมาดื่มน้ำข้างล่างได้อีกด้วย
สถานที่อยู่อาศัยและเขตการครอบครองของชะนี
ชะนีเป็นสัตว์ป่าที่สามารถพบเจอได้ในทวีปเอเชียฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศร้อนและมีความชื้นสูง ปกติจะอาศัยอยู่ในป่าดงดิบที่มีต้นไม้หนาแน่น เนื่องจากพวกมันมักอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลักนั่นเอง พวกมันจัดเป็นสัตว์ที่ไม่มีการสร้างรังแต่อย่างใด แต่จะใช้วิธีการครอบครองต้นไม้สูงต้นใหญ่ใช้เป็นบ้านแทน
พวกมันสามารถนอนอยู่บนต้นไม้ที่มีความสูงกว่า 25 เมตรขึ้นไปได้ โดยส่วนใหญ่มักจะเลือกต้นไม้ตระกูลยางในการอยู่อาศัย และถึงจะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว แต่ปกติแล้วพวกมันก็จะแยกกันนอนบนต้นไม้ของใครของมัน ไม่ได้มานอนรวมกันเป็นฝูงแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นแม่ลูกอ่อนที่เด็กจะนอนต้นเดียวกับแม่เท่านั้น
ชะนี สัตว์ที่กลายมาเป็นคำเหน็บแนมในสังคมมนุษย์
เนื่องจากเราสามารถพบ ชะนี ได้ทั่วไปในประเทศไทย มันจึงไม่น่าแปลกใจหากพวกมันจะมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เราต่างคุ้นชินเสียงร้องของพวกมันเป็นอย่างดี โดยเสียงของพวกมันทั้งดังและเสียงสูงมาก มีหลากหลายโทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในการแยกสายพันธุ์นั่นเอง
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเสียงร้องของพวกมันจะพ้องเสียงกับคำว่า “ผัว” ในภาษาไทย นอกจากนี้ทั้งตัวผู้และตัวเมียยังร้องด้วยเสียงเดียวกันอีกด้วย สังคมไทยจึงนำเอาชื่อของพวกมันมาเปรียบเปรยหรือกระแนะกระแหน ด่าทอแบบอ้อม ๆ
เป็นศัพท์สแลงที่มีความหมายถึง ผู้หญิงที่มีกิริยาไม่เหมาะสม ดูน่าหมั่นไส้ หรือเป็นม้าดีดกะโหลก โดยปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านอย่างจันทโครพ หลังจากนางโมราให้พระขรรค์แก่โจรป่าแล้ว โจรป่าก็ได้ฆ่าสามีของนาง พระอินทร์จึงสาปให้นางกลายร่างเป็นชะนีเพื่อให้เรียกร้องหาผัวตลอดไป
พวกมันเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติฉนวนและคุ้มครองสัตว์แห่งประเทศไทยในปี 2535 และยังเชื่อได้ว่าหากใครก็ตามที่ถูกชะนีกัด ข่วน หรือทำร้ายร่างกายอาจมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้นถึงจะดูน่ารักและดูเป็นมิตร แต่เราขอแนะนำว่าหากเห็นพวกมันตามธรรมชาติก็พยายามหลีกเลี่ยงเอาไว้ดีกว่า
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me