เราอาจเคยได้ยินชื่อเสือโคร่ง เสือดาว หรือเสือชีตาร์กันจนชินหู แต่หากพูดถึง เสือไฟ เชื่อว่าหลายคนรู้สึกสงสัยอย่างแน่นอนว่า มันมีเสือสายพันธุ์นี้ด้วยเหรอ ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจาก พวกมันเป็นสัตว์ป่าที่ค่อนข้างลึกลับและหาตัวได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นพวกมันก็มีความสง่างามจนได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาแห่งเงามืดในดินแดนตะวันออกเลยทีเดียว ในปัจจุบันพวกมันต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามอย่างหนักจนเสี่ยงสูญพันธุ์ เราจึงอยากพาทุกคนไปทำกับพวกมันให้มากขึ้น ก่อนที่เราจะไม่สามารถพบเห็นพวกมันตามธรรมชาติได้อีกต่อไป
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับเสือไฟ ราชาแห่งเงามืด สัตว์ป่าลึกลับที่หาดูยาก
เสือไฟ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หลายคนเข้าใจผิดว่าพวกมันเป็นแมวป่า แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกมันเป็นเสือขนาดกลางที่รูปร่างค่อนข้างบึกบึนเลยทีเดียว มีขาที่เรียวยาว ขนตามลำตัวมักเป็นสีเรียบ ๆ ไม่ค่อยมีลวดลายสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มักมีสีน้ำตาลแดงคล้ายกับเก้ง
ในเสือบางตัวก็อาจจะมีขนเป็นสีเทา สีน้ำตาล หรือสีดำบ้าง เพียงแต่เป็นสีที่พบได้น้อย ยิ่งถ้าอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากเท่าไหร่ เสือไฟก็ยิ่งมีลวดลายน้อยเท่านั้น แตกต่างจากตัวที่อยู่ทางตอนเหนือ ที่จะมีลวดลายมากขึ้นตามเส้นละติจูด
ถึงแม้ว่าลวดลายตามลำตัวของพวกมัน อาจจะไม่ได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่ดูแบบผิวเผินแล้วก็มีความใกล้เคียงกับลวดลายของแมวดาวเช่นกัน พวกมันจะมีความโดดเด่นตรงบริเวณใบหน้า ที่จะมีแต้มสีขาวและขีดสีดำตรงแก้ม มีเส้นที่ลากจากหัวตายาวขึ้นไปจนถึงกระหม่อม
ส่วนด้านในลำตัวและขามักเป็นขนสีอ่อน ความยาวหางจะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว โดยลำตัวมีความยาวประมาณ 75-105 เซนติเมตร มีนำหนักราว ๆ 12-30 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่พวกมันอาศัยอยู่
เสือไฟในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย ประกอบไปด้วยสายพันธุ์ C.t.dominicanorum อาศัยอยู่ในประเทศจีนทางตอนใต้ สายพันธุ์ C.t.temmincki พบได้ทั่วไปตามเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงบริเวณเกาะสุมาตรา และสุดท้ายสายพันธุ์ C.t.tristis อาศัยอยู่ตามที่ราบสูงในประเทศจีนทางตะวันตกเฉียงใต้
ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือไฟ
เสือไฟ มีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ได้ในป่าหลายประเภท เช่น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ เราสามารถพบพวกมันได้ถึงที่ระดับความสูงกว่า 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาหิมาลัย มีการกระจายพันธุ์กันอย่างกว้างขวาง
ตั้งแต่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ภาคเหนือของเอเชียใต้ ไปจนถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็คือภาคใต้และภาคตะวันออกของจีน ประเทศเนปาล ภูฏาน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซียและตามหมู่เกาะต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย
ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมการหากิน
พวกมันมักจะออกหากินในช่วงเวลากลางคืน พวกมันมีความสามารถในการปีนป่ายบนต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่บนพื้นดินมากกว่า พวกมันสามารถล่าเหยื่อได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างกระต่าย หนู หรือนก รวมไปถึงแมลงและสัตว์เลื้อยคลานด้วย บางครั้งพวกมันยังออกล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองอย่างเก้งหรือกวางผา ส่วนในเวียดนามทางตอนเหนือเคยพบว่าพวกมันล่าแม้กระทั่งหมูป่าและกวางเลยทีเดียว
วิถีชีวิตและการสืบพันธุ์ของเสือไฟ
เสือไฟตัวเมียจะมีระยะเวลาติดสัดประมาณ 6 วัน แต่เคยมีการค้นพบว่าพวกมันสามารถติดสัดได้ยาวนานสูงสุดถึง 39 วันเลยทีเดียว หลังผสมพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 80 วัน จากนั้นก็จะออกลูกในโพรงไม้ครั้งละประมาณ 1-3 ตัว
เมื่อแรกเกิดลูกเสือจะมีน้ำหนักตัวเพียงแค่ 250 กรัมเท่านั้น เมื่อผ่านไป 9 วันพวกมันก็จะเริ่มลืมตา จนกระทั่งอายุ 6 เดือน ก็จะหย่านมแม่ ตัวลูกจะมีขนสีเรียบ ๆ เหมือนพ่อแม่ของพวกมัน แต่ขนจะทั้งหนาและยาวมากกว่า เมื่ออายุได้ 2 ปี พวกมันก็จะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และออกหากินตามลำพัง
เสือไฟ อัญมณีแห่งป่าตะวันออกที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์สูญพันธุ์
ในปัจจุบันมีรายงานว่ามีเสือไฟอาศัยอยู่ตามสวนสัตว์ทั่วโลกรวมกันไม่เกิน 10 ตัวเท่านั้น เนื่องจากพวกมันมีปัญหาเสือตัวผู้ชอบฆ่าเสือตัวเมียอยู่เป็นประจำ การเพาะพันธุ์ในสวนสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่รวมไปถึงปัญหาภัยคุกคามที่พวกมันต้องเผชิญอย่างหนัก จนทำให้พวกมันถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
โดยภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับพวกมันก็คือ การต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย เนื่องจากมนุษย์รุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตร ปัญหาใหญ่รองลงมาก็คือ การที่พวกมันถูกล่าอย่างผิดกฎหมาย ในตลาดมืด ทั้งกระดูกและผิวหนังของพวกมันได้รับความนิยมจนมีราคาสูงเป็นอย่างมาก
พวกมันจึงถูกล่าอย่างไม่หยุดหย่อนแม้ว่าปริมาณจะลดลงอย่างน่าใจหายก็ตาม และบางครั้งก็มีมนุษย์ที่ไปบุกรุกพื้นที่ป่าก็ฆ่าพวกมัน เพราะพวกมันเข้าไปจับสัตว์เลี้ยงภายในฟาร์ม ทางไซเตสจึงได้ขึ้นบัญชีเสือไฟในบัญชีหมายเลข 1 สำหรับ IUCN มีการประเมินสถานภาพของพวกมันไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์
ปัจจุบันหลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พวกมัน จึงมีการออกกฎหมายห้ามล่าโดยเด็ดขาด หากใครล่า ครอบครองตัวหรือชิ้นส่วน จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ
โดยประเทศที่สั่งห้ามล่าโดยเด็ดขาดจะมีประเทศไทย บังกลาเทศ เวียดนาม จีน พม่า อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศลาวจะเป็นกฎหมายควบคุมการล่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าประเทศกัมพูชามีการอนุรักษ์พวกมันอย่างไร แต่ในประเทศบรูไนและภูฏานไม่มีการคุ้มครองพวกมันนอกเขตอนุรักษ์
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me