โรคพยาธิหนอนหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัวที่อาจทำให้สุนัขของคุณถึงแก่ชีวิต 

by animalkingdom
437 views
โรคพยาธิหนอนหัวใจ

การรับเลี้ยงสุนัขนั้นมีสิ่งที่เราต้องใส่ใจมากมายโดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บ รวมไปถึงโรคที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้นั่นก็คือ โรคพยาธิหนอนหัวใจ นั่นเอง มันเป็นโรคที่หลายคนไม่ทันระวังแต่ความเป็นจริงแล้วมันเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่อันตรายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขของคุณถึงแก่ชีวิตกันเลยทีเดียว แถมพาหะนำโรคยังไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นยุงที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยของเราอีกด้วย โรคดังกล่าวคืออะไรและเราจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรได้บ้าง ตาม Animalkingdom ไปดูกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับโรคพยาธิหนอนหัวใจ โรคอันตรายที่เรามักไม่ทันระวัง 

โรคพยาธิหนอนหัวใจ

“สุนัข” นั้นมีโรคมากมายที่เราจะต้องระวังเพื่อดูแลให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคพยาธิหนอนหัวใจ” ที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้ นั่นเอง มันเป็นโรคยอดฮิตที่สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงทั่วไปแถมยังมีพาหะมาจากยุงที่ควบคุมได้ยากในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยของเราอีกด้วย โรคดังกล่าวนั้นเป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขแต่ก็มีบางครั้งเช่นเดียวกันที่พบในแมวด้วย แต่ในคนนั้นจะไม่ค่อยพบสักเท่าไหร่ การติดเชื้อจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อยุงที่มีตัวอ่อนของเชื้อดังกล่าวมากัดสัตว์เลี้ยงของเรา เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่เส้นเลือดของสุนัข ก็จะพัฒนากลายเป็นพยาธิหนอนหัวใจซึ่งจะอาศัยอยู่ในบริเวณหัวใจรวมไปถึงหลอดเลือดใกล้เคียง 

โรคดังกล่าวนั้นสามารถพบได้ทั่วไปในแถบเมืองร้อนและบริเวณที่มีอากาศอบอุ่น หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการแพร่ระบาดก็คือ หากสัตว์เลี้ยงในบริเวณรอบข้างป่วยเป็นโรคดังกล่าว ก็มีโอกาสสูงที่ยุงที่มีเชื้อจะมากัดสุนัขของเราด้วยเช่นเดียวกัน โอกาสที่สุนัขของเราจะติดเชื้อดังกล่าวก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อาการของสุนัขที่ติดเชื้อดังกล่าวหากอายุน้อย ส่วนใหญ่แล้วมักจะไปแสดงอาการให้เราได้เห็นเมื่อพวกเขาอายุมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป 

โรคพยาธิหนอนหัวใจ

อาการเบื้องต้น ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ พวกเขาจะเหนื่อยง่ายมากขึ้นกว่าเดิม มีอาการเซื่องซึมไม่ร่าเริง มักจะเหนื่อยง่ายแม้ว่าจะไม่ได้ออกแรงอะไรมากมายก็ตาม หายใจหอบมากผิดปกติแม้ในเวลาที่อากาศไม่ร้อน ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการไอแห้ง หากอาการหนักบางตัวก็จะมีเลือดปนออกมากับการไอด้วย หากเราไม่ทันสังเกตและไม่ได้พาพวกเขาไปรับการรักษาจากสัตวแพทย์เชื้อก็จะพัฒนาสู่ระยะต่อไป นั่นก็คือมีอาการบวมน้ำและท้องโต หากยังไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอีกก็จะทำให้พวกเขาเสียชีวิตในที่สุด 

แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถสังเกตเห็นอาการของพวกเขาได้อย่างเด่นชัด เนื่องจากสุนัขบางตัวก็ไม่ได้มีการแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรงแต่อย่างใด ไม่เพียงเท่านั้นยังขึ้นอยู่กับพยาธิในตัวสุนัขอีกด้วย หากมีพยาธิน้อยก็จะไม่มีอาการป่วยแสดงออกมา หากมีเป็นจำนวนมากก็จะเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหมุนเวียนเลือด ที่ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นได้โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยงบางสายพันธุ์อย่างเช่น “อัลเซเชียน” ที่จะเหนื่อยง่ายและมักจะหอบเวลาออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง บางตัวอาจถึงขั้นหัวใจวายได้เลยทีเดียว หากเราสังเกตเห็นแล้วว่าพวกเขามีอาการผิดปกติ เราควรที่จะพาพวกเขาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและรับการรักษาโดยด่วนก่อนที่อาการจะหนัก 

โรคพยาธิหนอนหัวใจ

สัตวแพทย์ก็จะทำการตรวจสุขภาพโดยการตรวจค่าเลือดเพื่อดูการทำงานของไตและตับ บางตัวอาจต้องได้รับการเอกซเรย์บริเวณช่องอกเพื่อดูปอดและหัวใจ และใช้ในการพิจารณาว่าจะสามารถฉีดยาเพื่อทำลายพยาธิได้หรือไม่ หากสุขภาพของสุนัขไม่ดีก็อาจจะต้องให้ยาบำรุงไปก่อน แต่หากสามารถรักษาได้ก็จะมีการรักษา ในทันทีที่ได้รับการรักษาด้วยการฉีดยานั้น จะต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 2-6 สัปดาห์ เพื่อสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ฉีดยาไปแล้วประมาณ 1 เดือน ต้องให้สุนัขฉีดหรือรับประทานยาทำลายตัวอ่อนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อให้เป็นไปตามโปรแกรมป้องกันไม่ให้พวกเขาป่วยเป็นโรคดังกล่าวซ้ำขึ้นมาอีก 

ป้องกันและควบคุมอย่างไรไม่ให้สุนัขป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ 

โรคพยาธิหนอนหัวใจ

โรคพยาธิหนอนหัวใจเป็นโรคในสัตว์เลี้ยงที่สามารถป้องกันและควบคุมได้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราจะมียุงชุกชุมตลอดทั้งปีก็ตาม วิธีการที่ได้ผลดีคือการป้องกันด้วยการฉีดยาทำลายตัวอ่อนหรือการรับประทานยา เพื่อไม่ให้ตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้ พัฒนาเป็นตัวแก่และทำลายสุขภาพของสุนัขเราได้ การฉีดยานั้นจะค่อนข้างสะดวกและประหยัดเงินมากกว่าเพราะต้องฉีดทุก 2 เดือน ในขณะที่ยาต้องกินทุกเดือน โดยเราสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ที่พวกเขามีอายุครบ 3 เดือนขึ้นไป แต่ก่อนที่จะฉีดยาก็ต้องทำการตรวจเลือดก่อนว่ามีตัวอ่อนของพยาธิอยู่หรือไม่ หากไม่มีก็สามารถเข้าโปรแกรมป้องกันได้ หากมีก็ต้องรับการรักษาให้หายก่อน ไม่เพียงเท่านั้นเรายังสามารถป้องกันพาหะนำโรคไม่ให้เข้าบ้านของเราได้อย่างเช่น การปิดประตูให้สนิท การปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังอยู่เสมอ การฉีดพ่นกำจัดยุง ซึ่งก็ต้องระมัดระวังปิดประตูหน้าต่างห้องที่มีสัตว์เลี้ยงให้ดี เพื่อไม่ให้พวกเขาได้รับผลกระทบจากสารเคมี เป็นต้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment