หากพูดถึงแมลงที่มีลวดลายน่ารักมากที่สุดในโลก เชื่อว่าทุกคนจะต้องนึกถึงแมลงเต่าทองอย่างแน่นอน เพราะพวกเขามีสีแดงฉูดฉาด ที่มาพร้อมกับแต้มจุดสีดำตลอดทั้งปีก ทำให้พวกเขากลายเป็นแมลงที่มีความสวยงามและโดดเด่นไม่แพ้ใคร น่ารักเสียจนหลายคนตกหลุมรักแบบถอนตัวไม่ขึ้น ถึงขั้นที่ได้เป็นตัวละครหลักในสื่อบันเทิงหลายต่อหลายเรื่องกันเลยทีเดียว วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้น พวกเขาเป็นใคร และมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักแมลงเต่าทอง แมลงที่มาพร้อมกับลวดลายน่ารัก
แมลงเต่าทองจัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในอันดับแมลงปีกแข็ง พวกเขามาพร้อมกับรูปลักษณ์ที่ดูสะดุดตา จนหลายคนมีภาพจำว่าพวกเขานั้นเป็นแมลงที่มีปีกสีแดง มีลายแต้มจุดสีดำกระจายทั่วทั้งปีก แต่ความจริงแล้วพวกเขามีอยู่ถึง 490 ชนิดเลยทีเดียว
ในแต่ละชนิดก็อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง มากน้อยแล้วแต่วิถีชีวิตและสถานที่อยู่อาศัย เราสามารถพบแมลงเต่าทองได้ทั่วไปตามธรรมชาติ และในบางประเทศก็ยังมีความเชื่อว่า พวกเขาเป็นแมลงนำโชคอีกด้วย
วัฏจักรชีวิตของแมลงเต่าทอง
แมลงเต่าทองจะมีวัฏจักรชีวิตอยู่ทั้งหมด 4 ระยะ โดยแต่ละระยะพวกเขาก็จะมีรูปร่างลักษณะ รวมไปถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ประกอบไปด้วย
ตัวโตเต็มวัย
ลักษณะภายนอกของแมลงเต่าทองที่โตเต็มวัย จะเหมือนกับแมลงที่เราพบเห็นได้ทั่วไป นั่นก็คือเป็นแมลงตัวกลม มีส่วนหัวกับลำตัวที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ขนาดไม่เกิน 6 มิลลิเมตร ปีกจะมีความมันวาว มีหลากหลายสีสัน ตั้งแต่สีแดง สีน้ำตาลแดง สีเหลืองอมแดง ไปจนถึงสีเหลืองสด
ขนาดหัวเมื่อเทียบกับลำตัวแล้วถือว่าค่อนข้างเล็ก เป็นสีดำล้วนและมีจุดแต้มสีขาวอยู่บนหน้าอก แต่บางสายพันธุ์อาจมีหัวและอกเป็นสีเดียวกันทั้งหมด บางสายพันธุ์อาจมีหนวด และบางสายพันธุ์ก็อาจจะไม่มีหนวดก็ได้เช่นเดียวกัน
ในบางตัวมีขนปกคลุมอยู่ทั่วทั้งลำตัว เป็นขนอ่อนบาง ๆ ที่เราแทบจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ในบางสายพันธุ์ก็ไม่มีขนแต่อย่างใด และเนื่องจากพวกเขาเป็นแมลง ดังนั้นจึงมีทั้งหมด 6 ขา ขาคู่แรกจะอยู่บริเวณหน้าอก ส่วนอีก 2 คู่จะอยู่ใกล้กับส่วนอกและกลางท้อง
ลักษณะของขาจะเป็นข้อปล้องต่อกัน 3 ข้อ ประกอบไปด้วยต้นขา ขาและเท้า เมื่อโตเต็มวัยจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 92 วัน นับว่าเป็นสัตว์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีอายุค่อนข้างสั้นเลยทีเดียว แมลงเต่าทองมีปีกสีแดงที่ดูสวยงาม เป็นเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มปีกจริงสำหรับการบินที่อ่อนนุ่มและบางเฉียบอยู่ข้างใน
เวลาทำการบินพวกเขาจะกางเปลือกแข็งด้านนอกออก จากนั้นก็ขยายปีกจริงที่อยู่ข้างในโบยบินไปตามที่ต่าง ๆ ดังนั้นเวลาที่พวกเขาบิน เราจึงเห็นว่าปีกสีแดงไม่ได้มีการกระพือขึ้นลงแต่อย่างใด แต่จะถูกกางค้างไว้เฉย ๆ เท่านั้น
แมลงเต่าทองเป็นแมลงที่มีเพศแตกต่างกันชัดเจน ดังนั้นการผสมพันธุ์จึงใช้วิธีการปฏิสนธิภายใน และใน 1 ชั่วชีวิตยังสามารถผสมพันธุ์กันได้มากกว่า 1 ครั้งอีกด้วย เมื่อตัวเมียตั้งท้องจะสามารถวางไข่ได้สูงถึง 200 ฟองเลยทีเดียว ใช้ระยะเวลาในการวางไข่ประมาณ 1 สัปดาห์
ไข่
หลังจากที่แม่แมลงเต่าทองวางไข่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไข่เหล่านี้ก็จะอยู่ตามบริเวณใต้ใบไม้เรียงกันประมาณ 2 ถึง 3 แถว ในหนึ่งแถวจะมีประมาณ 8 ถึง 16 ฟอง ลักษณะของไข่จะมีความกลมรี มีความกว้างเพียง 1 มิลลิเมตรและยาว 4 มิลลิเมตรเท่านั้น
ในตอนแรกไข่จะเป็นสีเหลือง เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สุดท้ายจะกลายเป็นสีดำและฟักออกมาเป็นตัว หลังจากที่ถูกแม่คลอดออกมาประมาณ 3 ถึง 4 วัน
ตัวอ่อน
ในช่วงแรกที่แมลงฟักออกมาจากไข่ พวกเขาจะเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นหนอนเหมือนกับแมลงสายพันธุ์อื่นแต่อย่างใด มีลำตัวยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำอมน้ำตาลแดง มีขนปกคลุมเรียงเป็นแถวตั้งแต่หัวไปจนถึงส่วนท้ายลำตัว หลังจากนั้นก็ใช้เวลาประมาณ 10-15 วันในการเข้าดักแด้
ดักแด้
ในช่วงที่กำลังเข้าดักแด้ ตัวอ่อนจะมีลำตัวที่หดสั้นลงกว่าเดิม ลักษณะของดักแด้จะมีความแบน เป็นสีเหลือง รูปทรงเรียวรีคล้ายกับไข่ ปลายปล้องดักแด้จะงอเข้าหาอก ขนของพวกเขาจะหลุดร่วงหายไปทั้งหมด บริเวณดักแด้จะมีรอยพาดเป็นสีดำและมีจุดเล็ก ๆ ใช้เวลา 3-6 วันก็จะออกจากดักได้กลายเป็นแมลงเต่าทองตัวโตเต็มวัย
แมลงเต่าทอง แมลงคู่หูของเหล่าเกษตรกร
แมลงเต่าทองเป็นแมลงที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นั่นก็เป็นเพราะว่า พวกเขาช่วยควบคุมประชากรแมลงตัวเล็กตัวน้อยได้เป็นอย่างดี สำหรับเกษตรกรแล้ว พวกเขาจึงเปรียบเสมือนคู่หูที่ช่วยกำจัดศัตรูพืชโดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจัดว่าเป็นหนึ่งในแมลงตัวห้ำ ที่หากเกษตรกรคนไหนอยากจะปลูกพืชแบบออแกนิก แต่ไม่อยากโดนแมลงศัตรูพืชไล่กินผลผลิตจนหมด การปล่อยพวกเขาลงไปในสวน ก็จะช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านั้นให้หมดไปได้ง่ายกว่าเดิม
แต่สำหรับเกษตรกรท่านไหนที่ใช้สารเคมี สารเคมีเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อแมลงตัวห้ำ ทั้งแมลงเต่าทองและแมลงสายพันธุ์อื่นได้ ยิ่งทำให้บรรดาศัตรูพืชทั้งหลายแพร่กระจายสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว หากต้องการจะใช้สารเคมี ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ดูช่วงเวลาให้แม่นยำ
เพราะตัวห้ำและศัตรูพืชมีวงจรชีวิตที่แตกต่างกันนั่นเอง ถ้าเราเลือกใช้สารเคมีได้ถูกเวลา ก็จะช่วยกำจัดศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการทำลายแมลงตัวห้ำด้วยเช่นกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me