บรรดาสัตว์ขนปุกปุยทั้งหลายนั้นมักจะมาพร้อมกับความน่ารัก โดยเฉพาะ “โคอาลา” สัตว์ตัวเล็กน่ารักที่ทำให้หลายคนต้องใจละลาย ความนิยมของพวกเขานั้นมีมากถึงขนาดที่มีการนำเอามาทำเป็นมาสคอตหรือของที่ระลึก สร้างรายได้มากมายให้กับหลาย ๆ คน แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาเป็นหมีเนื่องจากเราพูดกันจนติดปาก แต่ความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ใช่หมีแต่อย่างใด แถมยังมีชีวิตที่น่าสนใจเป็นอย่างมากอีกด้วย ในวันนี้ Animalkingdom จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโคอาลาให้มากขึ้น พวกเขาจะมีลักษณะเป็นอย่างไร จะน่ารักสมกับที่เราได้กล่าวไปหรือไม่ ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
โคอาลา สิ่งมีชีวิตที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน
โคอาลา สัตว์ประจำถิ่นในประเทศออสเตรเลีย เป็นสัตว์ที่หลายคนเข้าใจว่าพวกเขาคือหมีแต่ความเป็นจริงแล้ว พวกเขาจัดว่าเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องจำพวกเดียวกับพอสซั่ม ตัวเมียจะมีกระเป๋าบริเวณหน้าท้องเอาไว้ให้ลูกอ่อนของพวกเขาอาศัยอยู่ แต่ด้วยความที่ลักษณะภายนอกคล้ายกับหมี แถมยังชื่นชอบการอยู่บนต้นไม้ ทำให้ผู้คนเรียกพวกเขาด้วยชื่อเล่นว่าหมีต้นไม้ จนกลายมาเป็นที่น่าสับสนงงงวยในปัจจุบันนั่นเอง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์นี้ถูกบันทึกครั้งแรกตั้งแต่ในปี 1798 ก่อนที่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพวกเขานั้น จะถูกตีพิมพ์ลงในวารสารโดยนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสในปี 1816 ที่ตั้งชื่อให้กับเขาโดยใช้รากศัพท์ภาษากรีก 2 คำรวมกันประกอบไปด้วย กระเป๋าบริเวณหน้าท้องของจิงโจ้ ประกอบเข้ากับคำที่มีความหมายว่าหมี
ในเวลาต่อมามีนักธรรมชาติวิทยาจากเยอรมนี ได้ตั้งชื่อพวกเขาให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ด้วยการเติมคำที่มีความหมายว่า สีขี้เถ้าลงไปนั่นเอง แต่สุดท้ายแล้วชื่อสามัญที่ใช้มาจากภาษาบอริจินี สามารถแปลได้ว่า ไม่กินน้ำ นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขานั้นเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่ไม่กินน้ำเลยตลอดทั้งชีวิต เนื่องจากอาหารหลักของพวกเขาอย่างใบยูคาลิปตัสนั้น มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการมีชีวิตอยู่นั่นเอง
สายพันธุ์ของโคอาลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ทางใต้ของออสเตรเลีย โดยตัวผู้สามารถมีความสูงได้กว่า 78 เซนติเมตรและสามารถมีน้ำหนักได้ถึง 11.8 กิโลกรัมเลยทีเดียว ส่วนตัวเมียจะมีขนาดเล็กลงมาเล็กน้อยโดยมีส่วนสูงอยู่ที่ 72 เซนติเมตรและน้ำหนัก 7.9 กิโลกรัม น้ำหนักแรกเกิดของพวกเขานั้นอยู่ที่ 0.5 กิโลกรัมเท่านั้น เรียกได้ว่าตัวเล็กเป็นอย่างมาก จนแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่า แม่พวกเขาจะเลี้ยงให้พวกเขาโตขึ้นมาได้อย่างไร
เมื่อเติบโตขึ้นพวกเขาจะมีขนสั้นที่หนาและเกาะเรียงตัวกันแน่นไม่ต่างอะไรจากขนแกะ สีขนของพวกเขาจะเป็นสีเทาอ่อนเหมือนกับขี้เถ้าบริเวณด้านหลังลำตัว ส่วนบริเวณหน้าท้องและหน้าอกด้านล่างจะเป็นสีครีมที่อ่อนลงมา พวกเขามีใบหูที่เล็กแต่จะมีขนยาวปุกปุยออกมาอย่างเห็นได้ชัดในบางสายพันธุ์เช่นเดียวกัน มีจมูกที่ใหญ่โตหากเทียบกับขนาดของหัว ดวงตาอาจเล็กก็จริงหากเทียบกับขนาดใบหน้าแต่ก็กลมโตไม่น้อยเลยทีเดียว เห็นแบบนี้พวกเขามีกรงเล็บที่แข็งแรงเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถปีนป่ายบนต้นไม้ได้อย่างสะดวกสบาย
หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ว่า โคอาลานั้นไม่ได้มีความสามารถในการกินใบยูคาลิปตัสที่มีพิษมาตั้งแต่แรก แม่ของพวกเขาจะขับถ่ายเพื่อส่งต่อเชื้อแบคทีเรียสำหรับการย่อยใบยูคาลิปตัสให้กับตัวลูก ตัวลูกจะกินอุจจาระของตัวแม่เข้าไปเพื่อรับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ก่อนที่พวกเขานั้นจะสามารถกินใบยูคาลิปตัสได้เมื่อโตขึ้น
โดยแบคทีเรียดังกล่าวนั้น จะสามารถย่อยส่วนประกอบของใบยูคาลิปตัสอย่างกากใยอาหาร ให้กลายเป็นสารอาหารเพื่อใช้ในร่างกายได้ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็สามารถดูดซึมสารอาหารจากใบยูคาลิปตัสได้เพียงแค่ 25% เท่านั้น
นอกจากนี้พวกเขายังมีอวัยวะที่สามารถย่อยกากใยอาหารยาวกว่า 200 เซนติเมตรเลยทีเดียว ในแต่ละวัน ตัวโตเต็มวัยจะกินใบยูคาลิปตัสประมาณ 2,000 กรัมขึ้นไป และพวกเขายังนอนได้อย่างยาวนานกว่า 16 ถึง 24 ชั่วโมงเพื่อเป็นการรักษาพลังงานอีกด้วย
สำหรับการสืบพันธุ์ของพวกเขานั้น จะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนลากยาวจนถึงเดือนมีนาคมในปีต่อไป ตัวผู้ที่ปกติแล้วจะมีนิสัยก้าวร้าวและดุร้ายจนต้องอยู่ตามลำพัง จะสามารถอยู่กับตัวเมียได้ในฤดูผสมพันธุ์ พวกเขาจะมีลูกตกประมาณปีละ 1 ตัว โดยอาจจะมีประมาณปีเว้นปีหรือบางตัวก็สามารถเว้น 2 ปีขึ้นไปได้ด้วย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอายุของตัวเมีย อายุเฉลี่ยของพวกเขานั้นจะอยู่ที่ประมาณ 12 ปี เท่านั้น
รู้หรือไม่ โคอาลาเคยเกือบสูญพันธุ์เพราะมนุษย์อย่างเรา
โคอาลา เป็นสัตว์ที่น่ารักเป็นอย่างมากจนไม่มีใครคาดคิดว่า มนุษย์อย่างเราจะทำร้ายพวกเขาได้ลง ประกอบกับการที่พวกเขาไม่ได้มีศัตรูทางธรรมชาติสักเท่าไหร่ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ ทำให้ยากแก่การล่าจากบรรดาสัตว์นักล่าทั้งหลาย แต่ครั้งหนึ่งพวกเขากลับเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างพวกเราเสียอย่างนั้น โดยเฉพาะในยุค 60 มนุษย์นิยมล่าพวกเขาเพื่อเอาขนมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย จนพวกเขาใกล้สูญพันธุ์ในปี 1963 หลังจากนั้นจึงมีกฎหมายห้ามล่าพวกเขาออกมา เพื่อช่วยอนุรักษ์ให้พวกเขายังคงอยู่ในธรรมชาติต่อไปได้ โดยที่ไม่มีมนุษย์อย่างเราไปรบกวน