หากเราไม่ได้เกิดเป็นคนไทยภาษาไทยคงจะยากไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะภาษาของเรานั้นสามารถดัดแปลงคำต่าง ๆ รอบตัวให้เป็นคำด่าได้ อย่างเช่นคำว่า แรด ที่มีความหมายถึงสัตว์สายพันธุ์หนึ่งและยังมีความหมายถึงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อีกรูปแบบหนึ่งด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวว่าเพราะเหตุใด? วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแรดและเปิดสาเหตุที่ว่า ทำไมคำดังกล่าวจึงกลายมาเป็นคำด่าได้
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับแรด สัตว์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ
แรด นั้นเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลังและชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับของสัตว์กีบคี่ พวกเขามีขนาดตัวที่ใหญ่โตเป็นอย่างมากจนจัดว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดตัวใหญ่มากที่สุด โดยเป็นรองเพียงแค่ช้างสายพันธุ์เดียวเท่านั้น
พวกเขานั้นสามารถมีความยาวลำตัวได้กว่า 5 เมตรและความสูงได้ถึง 2 เมตร ส่วนน้ำหนักนั้นสามารถหนักได้กว่า 3.6 ตันกันเลยทีเดียว ลักษณะของพวกเขานั้นจะมีดวงตาที่เล็กและเรียวรีเป็นทรงอัลมอนด์ ปากจะงุ้มลงเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือทรงสี่เหลี่ยม ผิวหนังของพวกเขาจะหนาเป็นอย่างมาก และในบางสายพันธุ์เราอาจจะยังได้เห็นชั้นผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายกับเกราะแข็งอีกด้วย
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในร่างกายของแรดนั้นคือ สันจมูก ที่งอกแหลมยามออกมาเรียกกันว่า นอ มันเป็นอาวุธที่ใช้ในการป้องกันตัวโดยถูกจัดให้เป็นเขาชนิดหนึ่ง เพียงแต่เป็นเขาที่ไม่มีแกนกลางเป็นกระดูก นั่นก็เป็นเพราะว่า นอของพวกเขาเป็นส่วนประกอบของเคราตินซึ่งเป็นโปรตีนประเภทเดียวกับที่อยู่ในเส้นขน เล็บ รวมไปถึงผมนั่นเอง
แต่ถึงอย่างนั้นนอของแรดก็ไม่ได้เกิดมาจากการที่ขนรวมตัวกันแต่อย่างใด พวกเขาสามารถมีนอได้ยาวกว่า 1.5 เมตร บางสายพันธุ์มีเพียงแค่นอเดียวในขณะที่บางสายพันธุ์ก็มี 2 นอ พวกเขาไม่มีต่อมเหงื่อดังนั้นในช่วงเวลากลางวันเราจึงมักจะเห็นพวกเขานอนแช่โคลนอยู่เสมอเพื่อเป็นการคลายร้อนและช่วยไล่แมลง พอตกดึกเข้าสู่ช่วงกลางคืนพวกเขาจึงจะออกหากิน
พวกเขานั้นมีสายตาที่ย่ำแย่เป็นอย่างมาก แต่ก็ทดแทนด้วยประสาทการได้ยินและการรับกลิ่นที่ยอดเยี่ยม ปกติแล้วพวกเขาเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างหงุดหงิดง่าย เมื่อรวมกับขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่จึงทำให้พวกเขาไม่ได้มีศัตรูตามธรรมชาติสักเท่าไหร่
สิ่งเดียวที่จะสร้างความอันตรายให้กับพวกเขาได้ก็คือมนุษย์อย่างเรานั่นเอง ส่วนชื่อของพวกเขาตามรากศัพท์ภาษาไทยนั้นแปลงมาจากภาษาเขมรโดยเพี้ยนจาก รมาสเป็นระมาด อย่างเช่นพื้นที่ตลิ่งชันที่มีแขวงชื่อว่าบางระมาดนั้นมีการสันนิษฐานว่าเดิมทีเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกเขาอีกด้วย
ในปัจจุบันค้นพบแรดอยู่เพียงแค่ 5 ชนิดเท่านั้น ประกอบไปด้วย
สายพันธุ์สีขาว
เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวใหญ่โตมากที่สุดในโลก สามารถพบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา
สายพันธุ์สีดำ
เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากสายพันธุ์สีขาวและสามารถพบได้ในทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกัน
สายพันธุ์อินเดีย
เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปในแถบเอเชียใต้ พวกเขามีเพียงแค่นอเดียวเท่านั้น ความโดดเด่นก็คือ มีผิวหนังที่หนาเป็นอย่างมากและสามารถมองเห็นรอยย่นได้อย่างชัดเจน
สายพันธุ์ชวา
เป็นสายพันธุ์ที่พบในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไปถึงในประเทศไทยของเราที่ในอดีตก็เคยพบพวกเขาเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันแรดในประเทศไทยได้สูญพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกพวกเขาจัดว่าเป็นสายพันธุ์หายากและยังนับว่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่หาได้ยากที่สุดในโลกอีกด้วย
สายพันธุ์สุมาตราหรือกระซู่
เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวเล็กและสามารถพบได้ทั่วไปตามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไปถึงในประเทศไทย สามารถพบได้ในป่าดิบชายแดนใกล้กับมาเลเซีย ความโดดเด่นของพวกเขาก็คือการที่มีขนปกคลุมอยู่ทั่วทั้งลำตัว
ไขข้อสงสัย ทำไมแรดจึงกลายมาเป็นคำด่าในสังคมไทย
แรด นั้นจัดเป็นสัตว์สายพันธุ์หนึ่งที่หากมองดูจากภายนอกแล้วพวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์ป่าธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้พวกเขายังเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจมากมาย และเนื่องจากชื่อที่เรียกง่ายดังนั้นพวกเขาจึงกลายเป็นที่รู้จักสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
แต่สำหรับในสังคมไทยแล้วชื่อของพวกเขานั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่คำเรียกสัตว์สายพันธุ์หนึ่งเท่านั้น แต่มันยังกลายมาเป็นคำด่าอีกด้วย ในพจนานุกรมไทยของราชบัณฑิตยสถานนั้นได้ระบุว่า คำดังกล่าวมี 2 ความหมาย
ความหมายแรกนั้นบ่งบอกถึงสัตว์ตัวใหญ่ชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างคล้ายกับหมูแต่ตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า มีนออยู่บนสันจมูก มีได้ทั้งนอเดียวและ 2 นอ มีผิวหนังที่หนา ส่วนอีกหนึ่งความหมายคือความหมายที่เราได้ยินกันบ่อยกว่านั่นก็คือ การเปรียบเปรยถึงกิริยาหรือพฤติกรรมของผู้หญิงที่ประพฤติปฏิบัติตัวไม่ดี ไม่อยู่ในครรลองคลองธรรม มีความเหลวไหล
สาเหตุที่ผู้คนตั้งแต่ยุคสมัยโบราณนำเอาชื่อของแรดมาใช้เป็นคำด่าไม่ได้เป็นการคิดขึ้นมาแบบลอย ๆ แต่อย่างใด สาเหตุเกิดจากธรรมชาติของแรดที่เมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวเมียจะต้องต่อสู้กันเองเพื่อแย่งตัวผู้สำหรับการสืบพันธุ์ต่อไป
ตัวเมียตัวไหนที่สามารถเอาชนะในการต่อสู้ได้ก็จะได้ตัวผู้ไปครอบครอง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ชนะแล้วแต่ตัวผู้ก็ยังไม่สนใจอีก ตัวผู้ก็ถึงเวลาชะตาขาดกันเลยทีเดียว นั่นก็เป็นเพราะว่าตัวเมียจะออกอาการหัวเสียถึงขั้นไล่ขวิดจนกว่าตัวผู้จะตายกันไปข้างหนึ่ง
ด้วยพฤติกรรมของแรดตามธรรมชาติที่ต่อสู้กันเองในกลุ่มตัวเมียเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวผู้ในการสืบพันธุ์ มันจึงกลายเป็นคำศัพท์ที่นิยามถึงพฤติกรรมของผู้หญิงที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทตบตีกันเพื่อแย่งชิงผู้ชาย แต่ในยุคสมัยใหม่ที่เพศมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม คำดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกใช้อย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับเพศหญิงเท่านั้น ไม่ว่าเพศใดก็ตามที่มีการประพฤติปฏิบัติตนอย่างไม่เหมาะสม ก็สามารถใช้คำดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me