ฉลาม นักล่าแห่งท้องทะเลที่มีชีวิตอยู่มานานร่วม 400 ล้านปี

by animalkingdom
532 views
ฉลาม

ในท้องทะเลนั้นเต็มไปด้วยสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจ มีทั้งสัตว์ที่เป็นผู้ล่าและผู้ถูกล่าอาศัยอยู่ร่วมกัน และหนึ่งในสัตว์นักล่าที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคงหนีไม่พ้น ฉลาม หนึ่งในสัตว์นักล่าที่ถือได้ว่าอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในท้องทะเล พวกเขาเป็นนักล่าที่ปรากฏตัวบนโลกใบนี้มาอย่างยาวนานร่วม 400 ล้านปีเลยทีเดียว

ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นสัตว์อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานไม่แพ้ใคร นอกจากการเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามแล้ว พวกเขานั้นยังเป็นผู้รักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศในท้องทะเลอีกด้วย วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักฉลามในอีกแง่มุมหนึ่งกัน พวกเขาจะมีความน่าสนใจขนาดไหน ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ฉลาม นักล่าที่มีความสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล

ฉลาม

ฉลามนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะของสัตว์นักล่าใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยความน่ากลัวและน่าเกรงขาม ทั่วทั้งโลกนั้นมีพวกเขาอยู่เป็นจำนวนกว่า 500 ชนิด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 8 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะทางกายภาพของพวกเขา พวกเขามีขนาดตัวที่ใหญ่โตเป็นอย่างมาก 

โดยตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นมีความยาวกว่า 20 เมตรและมีน้ำหนักกว่า 42 ตันพบในประเทศไต้หวัน และยังมีบางสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวที่เล็กกระจ้อยร่อยอย่างเช่น สายพันธุ์ที่พบได้ในแถบอเมริกากลางที่มีความยาวเมื่อโตเต็มวัยไม่เกิน 20 เซนติเมตร 

ความโดดเด่นในทางชีววิทยาของพวกเขานั้นก็คือ การเติบโตที่ช้า กว่าที่จะเติบโตเต็มวัยต้องใช้เวลายาวนานหลายปี อย่างเช่น สายพันธุ์หัวบาตรต้องใช้เวลากว่า 20 ปีเลยทีเดียว กว่าพวกเขาจะพร้อมผสมพันธุ์ นอกจากนี้พวกเขายังออกลูกได้เพียงแค่ไม่กี่ตัวและยังใช้เวลาตั้งท้องยาวนานหลายเดือนกว่าจะคลอด 

ฉลาม

ฉลาม นักล่าผู้สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศในท้องทะเล

นอกจากการเป็นนักล่าในท้องทะเลแล้ว ฉลามยังถือได้ว่าเป็นผู้รักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลอย่างแท้จริง เนื่องจากพวกเขาเป็นสัตว์กินเนื้อดังนั้นจึงสามารถกำจัดปลาที่ป่วย เชื่องช้า หรืออายุเยอะได้เป็นอย่างดี ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาชนิดอื่นให้มีความแข็งแรง 

เป็นการรักษาสมดุลประชากรปลาสายพันธุ์กินพืชให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับพืชน้ำในบริเวณที่อยู่อาศัย และยังช่วยควบคุมพฤติกรรมบรรดาปลากินเนื้อที่มีขนาดรองลงมาให้มีจำนวนที่ไม่มากหรือน้อยจนเกิน เป็นการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรให้มีความสมดุล การมีอยู่ของฉลามจึงไม่แตกต่างอะไรจากการมีอยู่ของเสือในป่านั่นเอง 

ฉลาม

ดังนั้น ฉลามจึงนับว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อโลกใบนี้เป็นอย่างมาก หากพวกเขาสูญพันธุ์ไประบบนิเวศก็จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามห่วงโซ่อาหารเลยทีเดียว มีงานศึกษาพบว่าในแถบทะเลแคริบเบียนเมื่อพวกเขาหายตัวไปหรือมีจำนวนลดน้อยลงมา จะทำให้ปลาล่าเหยื่อที่มีขนาดเล็กอย่างปลาหมอทะเล มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ส่งผลให้จำนวนปลากินพืชลดปริมาณลงด้วยเช่นเดียวกัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลานกแก้วที่มีจำนวนลดลงจนน่าเป็นห่วง ทำให้ทะเลบริเวณนั้นไม่สามารถควบคุมปริมาณของสาหร่ายได้ สาหร่ายแผ่ขยายเข้ามาจนแย่งพื้นที่การเติบโตของปะการัง สุดท้ายก็เกิดภาวะปะการังเสื่อมโทรมและระบบนิเวศก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในทิศทางที่แย่ลง 

วิกฤตฉลามในทะเลไทย จากนักล่าสู่สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์หลังถูกมนุษย์คุกคาม

ฉลาม

ฉลามอาจเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่ดูเหมือนอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารโดยเฉพาะในท้องทะเล แม้แต่มนุษย์อย่างเราเองหากลงไปในทะเลก็ไม่สามารถสู้กับพวกเขาได้แต่อย่างใด ดังนั้นหลายคนจึงอาจจะคิดว่า พวกเขาคงไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ และคงไม่มีอะไรที่จะกลายมาเป็นภัยคุกคามพวกเขาได้ 

แต่ทราบหรือไม่ว่า พวกเขานั้นกำลังเผชิญกับวิกฤตโดยเฉพาะกับฉลามที่อยู่ในทะเลไทย มีจำนวนกว่า 75% ที่ถูกจับและถูกเฉือนครีบนำเอาไปทำเป็นอาหารมื้ออร่อยอย่างหูฉลาม ส่งผลให้มีพวกเขาต้องตายเป็นจำนวนกว่า 142 ตัว ในแต่ละนาทีเลยทีเดียว 

แม้ว่าในอดีตพวกเขาอาจจะเป็นสัตว์ที่ดูน่ากลัวเสียเหลือเกิน แต่ในปัจจุบันผู้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม แต่ถึงจะรู้ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะยังคงมีการจับพวกเขาเฉลี่ยแล้วกว่า 100 ล้านตัวต่อปี 

ถึงแม้ว่าช่วงหลังมานี้การจับจะน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่เพราะตระหนักรู้ถึงความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเป็นเพราะว่าปริมาณฉลามที่น้องลง เป็นผลให้มีการล่าน้องลงตามไปด้วยนั้นเอง พูดให้เห็นภาพได้ชัดก็คือ ในประเทศไทยทุก 18 ปีเราจะฆ่าพวกเขาไปเป็นจำนวนกว่า 2 ใน 3 เลยทีเดียว 

ดังนั้นในประเทศไทยพวกเขาจึงถูกจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มากกว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 84 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์หัวค้อนที่มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุด แถมยังได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว 1 ชนิด นอกจากนี้ยังมีอีก 3 สายพันธุ์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ตามไป หากยังไม่มีการควบคุมหรือมีมาตรการดูแลพวกเขาอย่างเข้มงวด

สำหรับการอนุรักษ์พวกเขานั้นสามารถทำได้ทั้งหมด 3 แบบ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการประกอบไปด้วย การประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครอง โดยจะต้องผลักดันให้ฉลามกลายเป็นสัตว์คุ้มครอง ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยเน้นบรรดาสัตว์หายากทั้งหลายรวมไปถึงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 

โดยกำหนดมาตรการในการดูแลพวกเขาให้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือปรับปรุงมาตรการเดิมบางอย่างอย่างเช่น ขนาดที่สามารถจับได้ และสุดท้ายคือการรณรงค์โดยมีเครือข่ายหรือองค์กรที่เฝ้าระวังเรื่องนี้ ให้เข้ามาร่วมงานกัน สำหรับคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราแล้วก็สามารถอนุรักษ์พวกเขาได้ ด้วยการลดการบริโภคหูฉลามรวมไปถึงชักชวนให้ผู้อื่นเลิกรับประทานเมนูดังกล่าว เพื่ออนุรักษ์ให้พวกเขายังคงอยู่ในทะเลไทยต่อไป 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment