โดยปกติทั่วไปแล้วสัตว์ทุกชนิดบนโลกไม่สามารถที่จะส่องแสงสว่างท่ามกลางความมืดออกมาได้ด้วยตัวเอง แต่หิ่งห้อยกลับเป็นแมลงตัวเล็กที่สามารถส่องแสงออกมาได้ด้วยตัวเองเสียอย่างนั้น พวกเขาจึงเป็นแมลงสุดประหลาดที่มีความน่าสนใจมากมาย และยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกด้วย เพราะเมื่อพวกเขาอยู่รวมกัน บรรยากาศจะเต็มไปด้วยความสวยงามและความโรแมนติกอย่างน่าเหลือเชื่อ หิ่งห้อยเป็นแมลงอะไร และทำไมจึงสามารถส่องแสงได้ วันนี้เราจะหาทุกคนไปหาคำตอบกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับหิ่งห้อย แมลงตัวเล็กสุดโรแมนติก
หิ่งห้อยจัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในอันดับแมลงปีกแข็ง พวกเขาเป็นแมลงที่มีความโรแมนติกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาที่อยู่รวมกันหลายตัว มันจะเหมือนกับมีดวงดาวระยิบระยับอยู่รอบตัวเราเลยทีเดียว ทั่วทั้งโลกค้นพบแมลงสายพันธุ์นี้จำนวนกว่า 2,000 ชนิด
การกะพริบไฟของหิ่งห้อยนั้นใช้เพื่อการสื่อสารและการผสมพันธุ์ และยังสามารถใช้ส่งสัญญาณเพื่อป้องกันอันตรายจากนักล่าได้อีกด้วย เราสามารถพบพวกเขาได้ทั่วไปในบริเวณเขตอบอุ่น เขตร้อน และเขตหนาว มีเพียงแค่เขตกึ่งขั้วโลกและเขตขั้วโลกเท่านั้น ที่พวกเขาไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
บริเวณที่อยู่อาศัยของพวกเขาจะเป็นริมแม่น้ำ ใกล้กับหนองน้ำ หรือในป่าโกงกาง เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่สมัยเป็นตัวอ่อนยันตัวโตเต็มวัยนั่นเอง
ลักษณะภายนอก
หิ่งห้อยเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กเป็นอย่างมาก ดังนั้นมันจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะไม่คุ้นตากับรูปร่างของพวกเขาสักเท่าไหร่ ประกอบกับการที่เวลาเราไปดูแสงของพวกเขาก็ต้องปิดไฟให้สนิท ยิ่งทำให้เราไม่เห็นตัวของพวกเขาหนักไปกว่าเดิม จะเห็นเพียงแค่ก้นที่เรืองแสงของพวกเขาเท่านั้น
ความจริงแล้วไม่ใช่หิ่งห้อยทุกตัวที่จะมีปีกแต่อย่างใด ตัวผู้หลังจากโตเต็มวัยแล้วจะมีปีกอย่างแน่นอน แต่ตัวเมียจะมีทั้งตัวที่มีปีกและไม่มีปีก บางสายพันธุ์ปีกของพวกเขาสั้นเป็นอย่างมากจนแทบจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ สายพันธุ์ที่ไม่มีปีกลักษณะจะคล้ายกับหนอนที่มีเปลือกแข็งหุ้มตัวอยู่
ขนาดลำตัวของหิ่งห้อยอยู่ที่ 2-25 มิลลิเมตร ลำตัวยาวเป็นทรงกระบอกคล้ายกับหนอน หัวสีดำ บางสายพันธุ์จะมีแถบสีปนอยู่อย่างเช่นสีแดงหรือสีเหลืองอมน้ำตาล มีดวงตากลมโตสีดำอยู่ 1 คู่ มีหนวดสีดำอยู่ 2 ข้าง หน้าอกจะมีความกว้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ปีกของพวกเขาจากคลุมอวัยวะส่วนท้องอย่างมิดชิดจนเราไม่สามารถมองเห็นได้ มีปีก 2 คู่ ประกอบไปด้วยปีกที่เป็นเปลือกแข็งสำหรับการปกป้องลำตัวที่อ่อนนุ่ม และปีกจริงที่เป็นเส้นใยบาง ๆ เอาไว้ใช้สำหรับบิน
การส่องแสง
การส่องแสงของหิ่งห้อยนั้น สามารถทำได้ตั้งแต่สมัยเป็นตัวอ่อนเลยทีเดียว แต่ที่เราคุ้นชินภาพแมลงมีแสงที่ก้นบินไปบินมา นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขาตอนที่เป็นหนอนอยู่นั้นมักอยู่ตามพื้น มันจึงทำให้เราสังเกตเห็นแสงได้ยาก
การส่องแสงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่มีชื่อเรียกว่า การเรืองแสงทางชีวภาพ เป็นกระบวนการที่เกิดจากอวัยวะภายในสามารถเปล่งแสงออกมาได้ แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเย็นที่ไม่มีรังสีความร้อนอย่าง อัลตร้าไวโอเลตหรืออินฟราเรด สามารถมีได้หลากหลายสีสันทั้งสีเขียว สีเหลือง หรือแม้แต่สีแดง
ตัวผู้จะมีอวัยวะสำหรับการส่องแสงอยู่ 2 ปล้อง ส่วนตัวเมียสามารถมีได้ตั้งแต่ 1 ถึง 3 ปล้องเลยทีเดียว นักกีฏวิทยาค้นพบว่า หิ่งห้อยสามารถใช้การส่องแสงสื่อสารได้ถึง 4 แบบเลยทีเดียว
ในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขามักจะออกมากะพริบแสงไฟพร้อมกันเป็นกลุ่มก้อน ทำให้กลายเป็นวิวทิวทัศน์ที่มีความสวยงามและความโรแมนติกเป็นอย่างมาก
วัฏจักรชีวิต
วงจรชีวิตของหิ่งห้อยมีทั้งหมด 4 ระยะด้วยกัน หลังจากที่ตัวเมียโตเต็มวัยได้รับการผสมพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็จะทำการวางไข่เป็นฟองเดี่ยวตามพื้นดินที่มีความชื้นแฉะ หรือบนใบของพืชน้ำ ใช้เวลาประมาณ 4 วันถึง 12 วัน ไข่ก็จะฟักออกมากลายเป็นตัวหนอน
หลังจากนั้นพวกเขาก็จะใช้ชีวิตในร่างหนอนประมาณ 4 เดือน ก่อนจะลอกคราบกลายเป็นหนอนที่ตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เมื่อโตเต็มที่แล้วพวกเขาก็จะเข้าดักแด้และลอกคราบออกมากลายเป็นหิ่งห้อยตัวโตเต็มวัย หลังจากมีปีกเป็นเรียบร้อยแล้วพวกเขาก็จะมีอายุขัยไม่เกิน 30 วัน เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะต้องออกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์
โดยทั่วไปแล้วหิ่งห้อย 1 ตัว จะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 3-12 เดือนเท่านั้น หากเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนบกก็จะมีอายุได้ยาวนานสูงสุด 1 ปี แต่หากเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ใกล้น้ำก็จะมีอายุสั้นกว่า
ดังนั้นหากเราเห็นพวกเขาบินไปไหนมาไหน ขอแนะนำว่าให้ดูความสวยงามของพวกเขาเพียงอย่างเดียวก็พอ เพราะหากเราทำให้พวกเขาเกิดอันตราย ก็จะยิ่งเป็นการลดประชากรพวกเขาให้น้อยลงกว่าเดิม
พฤติกรรม
หิ่งห้อยจัดเป็นหนึ่งในแมลงตัวห้ำ มิตรแท้ของเกษตรกรที่ทำหน้าที่ในการกำจัดศัตรูพืชอย่างหอยฝาเดียว กิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงตัวเล็กทั้งหลายที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตร ปกติแล้วพวกเขาจะหากินในตอนกลางคืนและพักผ่อนในตอนกลางวัน
พวกเขาสามารถเป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี บริเวณไหนที่มีพวกเขาเยอะ แปลว่าบริเวณนั้นมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
หิ่งห้อย แมลงสวยงามที่เสี่ยงสูญพันธุ์จากพฤติกรรมของมนุษย์
แมลงที่มีความสวยงามเป็นอย่างมากอย่างหิ่งห้อย กลับต้องกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง นั่นก็เป็นเพราะว่ามนุษย์บุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขา ทำให้แหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยมีน้อยลงกว่าเดิม
การทำการเกษตรด้วยการใช้สารเคมี ยังส่งผลให้จำนวนประชากรพวกเขาลดลงอีกด้วย การท่องเที่ยวเพื่อรับชมแสงของพวกเขา ก็มีการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้พวกเขาถูกรบกวนจากแสงไฟฉาย หรือแม้แต่ยากันยุงที่นักท่องเที่ยวโถมฉีดก่อนไปรับชมแสงของหิ่งห้อย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me