ค่างจัดอยู่ในอันดับวานร โดยค่างนั้นมีมากมายหลายชนิดและหลายสกุล สัตว์ป่าพวกนี้จะมีทั้งหมด 58 ชนิด ใน 10 สกุล แต่วันนี้ Animal kingdom จะพูดถึง “ค่างแว่น” เป็นค่างหนึ่งใน 58 ชนิด ซึ่งเป็นค่างชนิดที่สามารถหาพบได้ในประเทศไทย โดยเราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าจำพวกนี้กันค่ะ ถ้าหากพร้อมแล้วก็ไปกันเลยค่ะ
ข้อมูลทั่วไปของค่างแว่น
ค่างแว่นเป็นค่างชนิดที่มีวงกลมสีขาวรอบดวงตาคล้ายแว่น ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่ ค่างแว่นถิ่นเหนือและค่างแว่นถิ่นใต้
ลักษณะของค่างแว่นแต่ละชนิด
ค่างแว่นถิ่นเหนือ มีขนาดความยาวของลำตัวอยู่ที่ 50-60 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวประมาณ 5-9 กิโลกรัม ลักษณะโดยทั่วไปของค่างที่โตเต็มวัยคือ ขนที่ปกคลุมลำตัวเป็นสีเทา ส่วนขนบริเวณด้านข้างของใบหน้าเป็นสีเทาเข้ม ส่วนขนที่กระหม่อมจะเป็นสีเทาอ่อน ปลายเท้าและปลายมือเป็นสีดำ ยลักษณะสำคัญที่ใช้แยกสัตว์ป่าชนิดนี้คือ สีขนของหางจะเป็นสีเดียวกันกับด้านหลังของลำตัว
ค่างแว่นถิ่นใต้ มีขนาดความยาวของลำตัวประมาณ 45-55 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวประมาณ 6-9 กิโลกรัม โดยลักษณะทั่วไปของค่างช่วงโตเต็มวัยคือ จะมีขนสีเทาเข้มเกือบดำตรงบริเวณด้านหลังของลำตัว ส่วนขนบริเวณด้านข้างใบหน้า ปลายเท้าและปลายมือเป็นสีเทาเข้ม ส่วนต้นขาและต้นแขนด้านนอกเป็นสีเทาจาง ส่วนลักษณะที่ใช้แยกสัตว์ป่าชนิดนี้คือ ขนหางจะเป็นสีดำแตกต่างจากขนด้านหลังที่เป็นสีเทาเข้ม
พฤติกรรมและถิ่นที่อยู่
ค่างแว่นถิ่นเหนือ เป็นสัตว์ป่าที่มักอาศัยรวมกันเป็นฝูง โดยสัตว์ป่าพวกนี้จะอาศัยอยู่บนยอดไม้สูง ๆ แต่บางครั้งก็พบว่าลงมากินน้ำและดินโป่งตามพื้นดินหรือห้วยหนอง เมื่อพบสิ่งผิดปกติค่างจ่าฝูงจะรีบกระโดดขึ้นไปบนยอดไม้ แล้วค่างตัวอื่น ๆ ก็จะตามไปในเส้นทางเดียวกัน ซึ่งค่างชนิดนี้จะผสมพันธุ์กันตลอดทั้งปี ตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ทีละหลาย ๆ ตัว ระยะการตั้งท้องจะใช้เวลานานถึง 140-150 วัน และจะคลอดลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น การเลี้ยงลูกจะเลี้ยงจนกว่าจะให้ลูกใหม่ได้ พวกมันจะกระจายตัวอยู่ในเอเชียอาคเนย์ เริ่มตั้งแต่เส้นละติจูด 14 องศาเหนือขึ้นไป จนถึงทางตอนใต้ของจีน และยังพบในทางตอนเหนือของลาว เมียนมาร์ ไทยและในบางส่วนของเวียดนาม
ค่างแว่นถิ่นใต้ จะชอบอาศัยอยู่ตามป่าเขาหินปูนสูงชัน นอกจากนี้สัตว์ป่าพวกนี้ยังอาศัยอยู่ในป่าดงดิบหรือสวนยางพารา และมักจะสร้างความเสียหายให้กับสวนยางพาราและบ้านเรือน ซึ่งแต่ละฝูงจะมีสมาชิกประมาณ 5-20 ตัว แต่บางครั้งก็พบค่างที่โตเต็มวัยหากินเพียงลำพัง โดยช่วงที่พบคนหรือสิ่งผิดปกติค่างจ่าฝูงจะส่งเสียงร้องเตือนสมาชิกตัวอื่น ๆ ให้หนีไปก่อน แล้วค่างจ่าฝูงจึงจะตามไปเป็นตัวสุดท้าย ส่วนการผสมพันธุ์และการตั้งท้องก็จะเหมือนกับค่างแว่นถิ่นเหนือ โดยจะกระจายอยู่ทางจังหวัดกาญจนบุรีลงมาทางทิศใต้ ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ส่วนในประเทศเมียนมาร์พบอยู่ทางเทือกเขาตะนาวศรีลงไปทางตอนใต้ และยังพบตามเกาะต่าง ๆ ของมาเลเซีย เช่น เกาะลังกาวี ส่วนในไทยสามารถพบได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด