ตอนนี้ก็เข้าสู่ฤดูร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้วและเมนูที่หลายคนโปรดปรานอย่างไข่มดแดง ก็ได้มีออกมาให้เราได้กินกันบ้างไม่มากก็น้อย ไข่มดแดงเหล่านี้มาจาก “มดแดง” ที่เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกันในวันนี้ ความจริงแล้วสัตว์ตัวจิ๋วเหล่านี้เป็นสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในบ้านของเราและมันก็สร้างความรำคาญให้กับมนุษย์เรามาอย่างยาวนาน เวลากัดก็เจ็บ หากไม่เก็บอาหารให้ดีพวกเขาก็มักจะมารุมตอมอยู่เสมอ จนไม่สามารถนำเอามารับประทานได้
ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักชื่อของพวกเขาดีพอและรู้ว่าพวกเขามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าคงมีหลายคนเลยทีเดียวที่ยังไม่รู้จักพวกเขาในเชิงลึก วันนี้ Animalkingdom จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้นกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับมดแดง สัตว์ในบ้านที่คุณอาจยังไม่เคยรู้จักพวกเขาดีพอ
มดแดง เป็นแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับต่อ แตน และผึ้ง ความโดดเด่นของพวกเขาก็คือ ลำตัวสีแดงส้มที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ นอกจากนี้ตัวราชินีของพวกเขายังเป็นสีเขียวอีกด้วย พวกเขานั้นมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งหมด 4 ระยะประกอบไปด้วย ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวโตเต็มวัย
สำหรับไข่มดแดงที่เราชอบกินกันนั้น ไม่ใช่ไข่ธรรมดาทั่วไป แต่มันคือตัวอ่อนหรือหนอนนั่นเอง แถมยังต้องเป็นหนอนของบรรดาเหล่ามดเจ้าหญิงเจ้าชาย ที่อนาคตพวกเขาจะบินออกจากรัง เพื่อไปผสมพันธุ์กับเจ้าหญิงเจ้าชายรังอื่นและสร้างรังใหม่ของตนเองขึ้นมา ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เรารับประทานเข้าไป จึงมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นไข่มดธรรมดาทั่วไป นั่นเอง
พวกเขามีร่างกายทั้งหมด 4 ส่วนประกอบไปด้วย หัว อก เอว และท้อง โดยจะมีเอวอยู่ 1 ปล้อง มีกรามขนาดใหญ่ ที่เวลาโดนมดกัดจะทำให้รู้สึกเจ็บเป็นอย่างมาก แถมยังคันอีกด้วย ที่สำคัญหากพวกเขารู้สึกว่าถูกคุกคามหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย พวกเขายังสามารถพ่น กรดมด หรือที่หลายคนเรียกว่า ฉี่มด จนทำให้เรารู้สึกแสบผิวหนังออกมาได้อีกต่างหาก
อวัยวะที่สำคัญที่สุดของมดแดงก็คือ “หนวด” ที่ใช้ในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมรัง รวมไปถึงกลิ่นฟีโรโมนที่จะถูกปล่อยออกมา เพื่อใช้ในการบอกสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น การพบเจอที่อยู่อาศัยใหม่หรือการพบแหล่งอาหาร มดสายพันธุ์นี้จะมีอยู่ 3 วรรณะ ประกอบไปด้วยมดนางพญา มดเจ้าหญิงเจ้าชาย และเหล่ามดงาน
โดยมดงานก็จะถูกแบ่งออกได้อีกหลายประเภทอย่างเช่น มดงานขนาดเล็ก ที่จะทำหน้าที่ในการดูแลทั้งไข่และตัวอ่อน ทำหน้าที่ในการหาอาหารและซ่อมแซมรั้ง สำหรับมดทหาร จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมา มีหน้าที่ในการปกป้องรังให้ปลอดภัย ออกไปหาอาหาร โดยเฉพาะการต้องล่าเหยื่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพวกเขา
นอกจากนี้พวกเขายังมีกรามขนาดใหญ่ ที่ช่วยให้บรรดามดขนาดเล็กทั้งหลาย สามารถกินสัตว์เปลือกแข็งได้อีกด้วย จากการนำเอากรามเหล่านั้น กัดทะลุเปลือกของเหยื่อนั่นเอง บางครั้งด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ ทำให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่ในการเป็นรถบัส ขนส่งมดงานตัวเล็ก ๆ ไปไหนมาไหนภายในรังได้อีกด้วย
พวกเขาเป็นสัตว์กินเนื้อโดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็กหรือซากสัตว์ที่ตายแล้ว และพวกเขายังเลี้ยงเพลี้ยบางชนิด เพื่อดูดกินน้ำหวานจากเพลี้ยเหล่านี้อีกต่างหาก
ในปัจจุบันพวกเขาได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าเดิมในฐานะสัตว์เลี้ยง แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็จัดว่าเป็นมดที่เลี้ยงยากเช่นเดียวกัน จึงไม่เหมาะสำหรับมือใหม่สักเท่าไหร่ เราไม่สามารถเลี้ยงพวกเขาในรังจำลองหรือเลี้ยงในดินได้เหมือนกับสายพันธุ์อื่น
วิธีเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์นี้ จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน บางคนก็เลือกเลี้ยงพวกเขาบนต้นไม้ขนาดเล็ก ที่มีใบพอให้พวกเขาสามารถทำรังได้ แต่ปัญหาก็คือ เราจะไม่สามารถสำรวจหรือมองเห็นภายในรังของพวกเขาได้แต่อย่างใด
ในประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีการทำฟาร์มไข่มดแดง จะเลือกใช้วิธีการคว่ำภาชนะเปิดฝาลงบนตะแกรงหรือชั้นวางที่โปร่ง ให้มดเข้าไปทำรังอยู่ภายในให้เราสามารถมองเห็นพวกเขาได้ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่วนอาหารที่เราจะต้องให้เขานั้นก็จะเป็นพวกสัตว์ขนาดเล็กอย่างเช่น หนอนนก นอกจากนี้หากเราเลี้ยงพวกเขา ยังต้องเสริมน้ำหวานจำพวกน้ำแดงหรือน้ำเฮลบลูบอยอีกด้วย เพราะพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงเพลี้ยได้ ในสภาพแวดล้อมจำลองที่เราสร้างให้พวกเขา
มดแดง สายพันธุ์มดที่มีพฤติกรรมการสร้างรังแปลกประหลาดที่สุด
โดยปกติแล้วมดสายพันธุ์อื่นมักจะเลือกทำรังอยู่ใต้ดิน เหมือนกับที่เราเคยเห็นในหนังสือเรียนกันมาก่อน แต่มดแดงดูเหมือนว่าจะมีวิวัฒนาการมากกว่านั้น สัตว์สังคมชนิดนี้เลือกทำรังอยู่ตามต้นไม้สูง อย่างวลีที่กล่าวว่า มดแดงแฝงมะม่วงนั่นเอง เวลาไปตามต้นมะม่วงเราก็มักจะเห็นพวกเขาห่อใบไม้ทำรังอยู่เสมอ
ลักษณะและพฤติกรรมการสร้างรังของพวกเขา จึงเรียกได้ว่าแปลกประหลาดมากที่สุด จากบรรดามดทุกสายพันธุ์ โดยปกติแล้วตัวอ่อนของมดหลังฟักออกมาจากไข่ พวกเขาจะชักใยเป็นดักแด้เพื่อปกป้องตัวเอง ก่อนที่จะกลายมาเป็นมดตัวโตเต็มวัย
แต่บรรดาตัวอ่อนของสายพันธุ์นี้ เลือกที่จะไม่ชักใยคลุมร่างกายของตัวเองกลายเป็นดักแด้ พวกเขาเลือกที่จะใช้เส้นใยเหล่านั้นเป็นกาว ให้พวกพี่ๆ นำเอาใยเหล่านี้ไปเชื่อมใบไม้ให้ติดกันเป็นรัง เพื่อปกป้องพวกเขาจากอันตรายภายนอกมากกว่า ด้วยเหตุนี้มดสายพันธุ์ดังกล่าวจึงสามารถสร้างรางของตนเองขึ้นมาบนต้นไม้ได้ นั่นเอง
ที่สำคัญพวกบรรดามดรุ่นพี่ยังนำเอาใยที่ตัวอ่อนสร้าง มาใช้ในการจัดการภายในรังอีกด้วย โดยพวกเขาจะสร้างใยขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นก็เปรียบเสมือนกับห้องภายในบ้านของเรา ที่จะมีรูปแบบการใช้งานแตกต่างกันออกไป มีอยู่ 1 ชั้น ที่ใช้ในการอาศัยและเป็นที่ออกไข่ อีกชั้นอาจจะเป็นบริเวณที่พวกมดใช้เลี้ยงตัวอ่อน บางบริเวณอาจใช้ในการเก็บอาหาร และบางชั้นก็ใช้เป็นที่อยู่อาศัยตามปกติ