แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เราสามารถเห็นได้ทั่วไปแม้แต่ในบ้านของเราเอง แต่มันกลับเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่เรารู้จักพวกเขาน้อยที่สุดเสียอย่างนั้น อย่างชันโรงที่เราจะมาแนะนำกันในวันนี้ ชื่อพวกเขาฟังดูไม่คุ้นหูเลยแม้แต่น้อย แต่ความจริงแล้วพวกเขาเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์มากมายและยังเป็นสุดยอดสัตว์เศรษฐกิจอีกด้วย สำหรับใครที่สนใจเราจะพาทุกคนไปดูกันว่าพวกเขาคือตัวอะไรกันแน่
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักชันโรง ผึ้งจิ๋วที่สามารถผลิตน้ำผึ้งได้
ชันโรง มีอีกหนึ่งชื่อเล่นว่า ผึ้งจิ๋ว นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขามีลักษณะและความเป็นอยู่ที่คล้ายกับผึ้งเป็นอย่างมาก พวกเขาจัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มแมลงประเภทผึ้ง ตามธรรมชาติพวกเขาจัดเป็นแมลงผสมเกสรขนาดเล็กที่ไม่มีพิษภัย เพราะพวกเขาไม่มีเหล็กในนั่นเอง
ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็มีวิวัฒนาการที่สูงกว่าผึ้งป่าเช่นเดียวกัน นอกจากนี้พวกเขายังสามารถผลิตน้ำผึ้งได้อีกด้วย น้ำผึ้งของพวกเขามีราคาที่สูงกว่าน้ำผึ้งธรรมดาทั่วไป เพราะผู้คนเชื่อกันว่าน้ำผึ้งชันโรงจะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าและรังก็หาได้ยาก ทำให้ปริมาณน้ำผึ้งชันโรงตามธรรมชาติที่สามารถหาได้มีค่อนข้างน้อย
ชันโรงมีขนาดตัวที่เล็กก็จริงแต่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเป็นอย่างมาก ทำให้พวกเขาสามารถบินลอยตัวอยู่กับที่ได้นานโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเกาะจับกับอะไร มันช่วยให้พวกเขาสามารถบินไปเก็บเกสรหรือดูดน้ำหวานได้ง่าย ไม่ทำให้กลีบดอกไม้ช้ำ
เราสามารถพบพวกเขาได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ประกอบกับการที่พวกเขาเป็นสัตว์ที่ช่วยผสมเกสร พวกเขาจึงมีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาจะเก็บเกสรดอกไม้ถึง 80% และเก็บน้ำหวานอีกเพียงแค่ 20% เท่านั้น
เรามักพบเห็นพวกเขาอาศัยอยู่ตามโพรงใต้ดิน โพรงตามบ้านเรือน และโพรงไม้ คล้ายกับผึ้งรวง แต่แตกต่างจากผึ้งที่มักสร้างรังไว้ตามกิ่งไม้
เมื่อไหร่ก็ตามที่สร้างรังจะใช้เป็นรังถาวร อาศัยอยู่ยาวนานนับ 10 ปีเลยทีเดียว ไม่ค่อยพบเห็นพฤติกรรมทิ้งรังเหมือนกับผึ้งสายพันธุ์อื่น นอกจากนี้ยังไม่เลือกดอกไม้ เห็นอะไรก็เก็บเกสรและน้ำหวานตามนั้น
วงจรชีวิต
ชันโรงมีวัฏจักรชีวิตอยู่ทั้งหมด 4 ระยะ ประกอบไปด้วย ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และโตเต็มวัย ใกล้เคียงกับผึ้ง ตัวนางพญาจะวางไข่เอาไว้ในหลอด ในช่วงสร้างอาณาจักรนางพญาจะต้องเป็นคนเลี้ยงไข่และตัวอ่อนเหล่านั้นด้วยตนเอง จนกว่าจะกลายเป็นดักแด้
เมื่อไข่ฟักออกมาช่วงแรกก็จะเป็นวรรณะผึ้งงาน ออกมาช่วยทำหน้าที่ในการหาอาหาร ทำความสะอาดรัง รวมไปถึงการเลี้ยงตัวอ่อนและดูแลนางพญา เมื่อรังเริ่มขยายขึ้นก็จะเริ่มมีการผลิตผึ้งวรรณะอื่น ๆ ตามมา
เราจะสามารถบอกได้ว่าไข่จะพัฒนาออกมาเป็นผึ้งแบบไหนจากการผสมน้ำเชื้อ หากไม่ได้รับการผสมน้ำเชื้อก็จะกลายเป็นตัวผู้หรือเจ้าชาย ที่มีหน้าที่ในการออกไปผสมพันธุ์กับเจ้าหญิงรังอื่น หากได้รับการผสมก็จะออกมาเป็นเพศเมียซึ่งจะประกอบไปด้วย ผึ้งงานและเจ้าหญิงที่จะกลายเป็นนางพญาในอนาคต
สาเหตุที่ทำให้ชันโรงต้องมีหลายวรรณะเป็นเพราะพวกเขาเป็นสัตว์สังคม มีการแบ่งหน้าที่ทำงานตามสรีระและระบบร่างกาย ช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานตามหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การเพาะเลี้ยงในประเทศไทย
ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงชันโรงในเชิงปศุสัตว์ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าอาจจะไม่แพร่หลายเหมือนกับผึ้งก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะว่าสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถจำแนกได้ถึง 26 ชนิด ส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อผสมเกสร อย่างเช่น คนที่มีสวนผลไม้ จัดการง่าย ไม่อันตราย เนื่องจากไม่มีเหล็กใน
นอกจากนี้ระยะทางในการหาอาหารก็ยังไม่ไกลจากรังสักเท่าไหร่ และบางส่วนก็นิยมเลี้ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำผึ้ง เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาอาจไม่สามารถผลิตนมผึ้งได้ แต่ก็มีความสามารถในการผลิตน้ำผึ้งเช่นเดียวกัน แถมยังเป็นสายพันธุ์เดียวที่สามารถผลิตน้ำผึ้งอินทรีย์ได้อีกด้วย
ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและสามารถขายได้ในราคาสูง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีชันผึ้งที่สามารถนำเอามาใช้ประโยชน์ได้มากมายอีกด้วย
ประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากชันโรง
ชันโรง เป็นแมลงตัวเล็กที่มอบประโยชน์ให้กับมนุษย์อย่างเราได้มหาศาล น้ำผึ้งของพวกเขานั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถบำรุงร่างกายให้แข็งแรงได้เป็นอย่างดี และยังมีชันผึ้งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- นำมาทำเป็นสารสกัดเพื่อต่อต้านแบคทีเรียและเชื้อราทางการแพทย์ นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในการทำยารักษาโรคทั้งในมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะโรคที่เกิดมาจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย และยังนิยมใช้ผสมเป็นยารักษาโรคหู คอ จมูกและโรคผิวหนังอีกด้วย
- ใช้ทำเครื่องสำอางเพื่อเสริมสร้างเซลล์ผิวหนังที่ถูกทำลายจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย สามารถใช้รักษาโรคผิวหนังได้
- ใช้ประกอบยาช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับฟัน ระบบไหลเวียนของเลือด โรคผิวหนัง อย่างเช่นได้รับบาดเจ็บหรือน้ำร้อนลวก
- ใช้เป็นสมุนไพรในการสมานแผลมาตั้งแต่ยุคโบราณทั้งในฝั่งอียิปต์และกรีกโรมัน ในศตวรรษที่ 12 มีการนำเอามาใช้รักษาโรคเจ็บคอและฟันผุด้วยเช่นกัน
- ใช้เป็นส่วนผสมในการถนอมอาหาร ช่วยป้องกันการหมักบูดที่เกิดมาจากแบคทีเรียและเชื้อรา สามารถใช้เพิ่มโภชนาการในอาหารสัตว์ได้ด้วยการผสมให้สัตว์กินเข้าไป
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me