เสือ เป็นนักล่าที่หลายคนมักจินตนาการภาพถึงสัตว์ตัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยความดุร้าย แต่ไม่ใช่กับเจ้า เสือปลา เพราะเสือสายพันธุ์นี้มีขนาดตัวใหญ่กว่าแมวบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถึงพวกมันจะมาพร้อมกับสัญชาตญาณนักล่าอย่างเต็มเปี่ยม แต่รูปลักษณ์ของพวกมันสำหรับมนุษย์อย่างเราแล้ว ถือว่าค่อนข้างน่ารักเลยทีเดียว เป็นเรื่องน่าเสียดายที่พวกมันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกที วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเสือสายพันธุ์นี้ให้มากขึ้น ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสได้พบเห็นพวกมันตามธรรมชาติอีกต่อไป
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับ เสือปลา นักล่าผู้โดดเดี่ยว
เสือปลา เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเสือ แต่ขนาดตัวของพวกมันแทบไม่แตกต่างอะไรจากแมวบ้านที่เราเลี้ยงกันโดยทั่วไป ลักษณะลำตัวจะค่อนข้างเตี้ยและลำตัวบึกบึน ลักษณะภายนอกบางส่วนคล้ายคลึงกับชะมด มีหัวขนาดใหญ่และหน้าผากกว้าง กระบอกปากยื่นยาวออกมาจากหัวเล็กน้อย ลวดลายคล้ายคลึงกับแมวดาว
พวกมันมีขนหยาบแต่มันวาว เป็นสีเทาอมมะกอกหรือสีน้ำตาลอมเทา ตามลำตัวจะมีลวดลายเป็นจุดหรือเส้นรี ๆ สีน้ำตาลเข้มพาดผ่านตามลำตัวในแนวยาว ช่วงล่างของลำตัวจะมีขนสีขาว ดวงตาเป็นสีเหลืองอมเขียว ใบหูสั้นและกลม หางทั้งอ้วนและสั้น ความยาวหางจะอยู่ที่ประมาณ 23 เซนติเมตร ยาวประมาณ 37% ของความยาวลำตัว
เมื่อโตเต็มวัยเสือปลาจะมีน้ำหนักประมาณ 12 กิโลกรัมในตัวผู้ และ 7 กิโลกรัมในตัวเมีย ลักษณะพิเศษของพวกมันคือปลอกเล็บจะไม่สมบูรณ์ เหมือนพระเจ้าสร้างไม่เสร็จ ทำให้พวกมันไม่สามารถหดเล็บกลับไปได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะขนสั้น แต่พวกมันมีขน 2 ชั้น เพื่อให้สามารถหากินในน้ำได้ดีขึ้น โดยขนชั้นในจะทั้งสั้นและแน่นจนน้ำไม่สามารถซึมผ่านเข้ามาได้ แม้ว่าขนชั้นนอกจะเปียก แต่ผิวข้างในจะแห้งเสมอเพื่อรักษาความอบอุ่น
ลักษณะนิสัยของเสือปลา
เสือปลา จัดเป็นสัตว์นักล่าหรือสัตว์กินเนื้อ พวกมันสามารถออกหากินได้ทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน เป็นแมวอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่กลัวน้ำเหมือนกับแมวทั่วไป เพราะได้รับการออกแบบทางกายภาพมาเพื่อหาให้กินในน้ำโดยเฉพาะ
พวกมันจึงมักจะอยู่อาศัยไม่ไกลจากแหล่งน้ำมากนัก อาหารส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างปลา คางคก กบ หอยทาก ปู กุ้ง แต่บางครั้งพวกมันก็กินสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกหนู กระต่าย รวมถึงงูและนกได้ด้วย
ในบางครั้งที่อดอยากปากแห้ง เราอาจมีโอกาสได้เห็นเสือปลากินซากสัตว์ที่ไม่ได้ล่าด้วยตัวเอง นอกจากนี้งานวิจัยในอินเดียยังค้นพบว่า พวกมันชื่นชอบการกินหญ้าเหมือนกับแมวเลี้ยงตามบ้านเรือนอีกต่างหาก
ถึงจะมีขนาดตัวที่เล็กและน่ารักมากแค่ไหน แต่พวกมันก็ถือว่ามีนิสัยที่ดุร้ายกว่าแมวธรรมดาทั่วไปเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังไม่มีหนทางที่จะทำให้พวกมันเชื่องได้เลยแม้แต่น้อย พวกมันดุถึงขั้นที่สามารถฆ่าเสือดาวที่น้ำหนักตัวมากกว่าถึง 2 เท่าได้เลยทีเดียว
ถิ่นที่อยู่อาศัย
สามารถพบเสือปลาได้ทั่วไปตั้งแต่อินเดียตอนเหนือ ศรีลังกา พม่าและไทย ไปจนถึงบริเวณเกาะสุมาตราและชวา ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มแม่น้ำธรรมดาทั่วไป ตามหนองน้ำ ลุ่มน้ำขัง รวมถึงดงอ้อ แต่บางส่วนก็อาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนหรือป่าดิบ โดยปกติแล้วจะอาศัยอยู่บนพื้นดินที่มีระดับความสูงประมาณ 1,525 เมตร จากระดับน้ำทะเล
พฤติกรรมและวงจรชีวิตของเสือปลา
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เสือปลามีพื้นที่ในการหากินกว้างถึง 22 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้พวกมันยังผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์พวกมันจะช่วยกันสร้างรังขึ้นมาบริเวณซอกหิน โพรงไม้ ตามตอไม้ หรือจุดที่ห่างไกลจากสัตว์ตัวอื่น ๆ เพื่อความเงียบสงบและปลอดภัย
เคยมีคนพบเจอลูกเสือปลาในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน และในสวนสัตว์ฟิลาเดเฟีย พวกมันก็เคยออกลูกในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม ใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 70 วัน ส่วนใหญ่จะออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว
เมื่อลูกอายุครบ 16 วัน ก็จะเริ่มลืมตาได้เอง จากนั้นก็จะหย่านมแม่แล้วหันมากินเนื้อเมื่ออายุครบ 53 วัน แต่ต้องรอไปจนถึงอายุเกือบ 6 เดือน กว่าพวกมันจะหย่านมแม่อย่างจริงจัง เมื่ออายุได้ประมาณ 9 เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและมีขนาดตัวเทียบเท่ากับพ่อแม่ หลังจากที่มีอายุได้ประมาณ 18 เดือน ก็จะเริ่มออกหากินเองตามลำพัง และมีอายุเฉลี่ยประมาณ 12 ปี
เสือปลา สัตว์ป่าหายากที่เราต้องช่วยกันดูแล
เสือปลา เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีภัยคุกคามร้ายแรงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันในภูมิภาคเอเชียกว่า 50% ทำให้พวกมันไม่มีที่อยู่อาศัยที่สงบ ไม่สามารถออกหากินได้เหมือนในอดีต
ยังไม่รวมการทำเกษตรเคมีและการทำอุตสาหกรรม ที่ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ มีการตัดไม้ทำลายป่าและจับปลาเป็นจำนวนมาก แถมบางส่วนยังมักจะล่าพวกมันเป็นอาหารหรือจับไปขายในตลาดมืด
หากเราไม่อยากให้ความน่ารักของพวกมันหายไป เราก็ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์โดยเริ่มตั้งแต่การหยุดตัดไม้ทำลายป่า หยุดการปล่อยสารเคมีลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จัดสรรพื้นที่การทำการเกษตรให้ไม่รบกวนบรรดาสัตว์ป่าผู้เป็นเจ้าถิ่นที่ดั้งเดิม ให้พวกมันยังคงสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติต่อไป
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันพวกมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ห้ามครอบครอง ห้ามล่า ห้ามจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวเป็น ๆ หรือเป็นชิ้นส่วนก็ตาม หากฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีโทษทั้งจำและปรับ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me