ปุยเมฆบนผืนป่า เรื่องราวของเสือลายเมฆ สัตว์นักล่าที่ใกล้สูญพันธุ์

by animalkingdom
166 views
เสือลายเมฆ

เสือยังคงถูกจัดเป็นนักล่าที่มาพร้อมกับความสง่างามมาก แต่หากพูดถึงสายพันธุ์ที่มีความงดงามที่สุดในผืนป่า ก็ต้องยกให้ เสือลายเมฆ ความสวยงามที่มาพร้อมกับวงจรชีวิตที่น่าสนใจ น่าเสียดายที่พวกมันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่แพ้ใคร เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกมัน ก่อนที่เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นพวกมันตามธรรมชาติอีกต่อไป

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับเสือลายเมฆ เผยชีวิตอันน่าทึ่งของนักล่าบนกิ่งไม้ 

เสือลายเมฆ

เสือลายเมฆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลเสือ แต่พวกมันก็เป็นเสือที่มีขนาดตัวเล็กมาก รูปลักษณ์คล้ายกับเสือดาวแต่ตัวเล็กกว่ากันเยอะ มีขาสั้น ๆ ทำให้พวกมันดูเตี้ยและป้อม ตามลำตัวปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลอมเทา หรือบางตัวก็อาจจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง

บริเวณลำตัวส่วนล่างจะมีขนเป็นสีขาวหรือสีครีม ตามลำตัวจะมีลวดลายเป็นสีน้ำตาลเข้มวงใหญ่ ๆ เหมือนกับก้อนเมฆที่ลอยอยู่ทั่วท้องฟ้า ส่วนหางสามารถยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร มีความฟูฟ่องคล้ายกับหางของกระรอก เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม

หากเทียบขนาดกะโหลกกับลำตัว เสือลายเมฆถือว่ามีกะโหลกศีรษะที่ค่อนข้างเล็ก มีหูกลม ๆ สั้น ๆ ดูน่ารัก ที่มาพร้อมกับเขี้ยวที่แหลมคม กรามทรงพลัง และอุ้งเท้าขนาดใหญ่สำหรับการตะปบเหยื่อ โดยเขี้ยวสามารถมีความยาวได้สูงสุดกว่า 4.5 เซนติเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุดในบรรดาเสือด้วยกัน

นิสัยและพฤติกรรมของเสือลายเมฆ

เสือลายเมฆ

เราสามารถพบเสือลายเมฆตามธรรมชาติได้ค่อนข้างยากจากจำนวนที่ถือว่ามีไม่มากนัก ประกอบกับลักษณะนิสัยที่ลึกลับและชอบเก็บตัวตามป่าทึบ การศึกษาเกี่ยวกับพวกมันจึงทำได้ยากตามไปด้วย แต่โดยปกติแล้วพวกมันมักจะอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก

ถึงแม้ว่าจะตัวเตี้ย แต่ข้อเท้าของพวกมันสามารถหมุนได้อย่างอิสระ ทำให้เสือลายเมฆเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด แถมยังสามารถห้อยโหนไปตามกิ่งไม้โดยการใช้ขาหลังเพียงอย่างเดียวได้ด้วย ทำให้พวกมันสามารถจับเหยื่อบนต้นไม้ได้

ด้วยเหตุนี้ ในงานศึกษาจึงพบว่า พวกมันมีอัตราการล่าเหยื่อบนต้นไม้ได้เทียบเท่ากับบนดิน อาหารที่พวกมันชื่นชอบจะเป็นพวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่าง ลิง ลูกกวาง กระรอก ปลา นก รวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลาน สำหรับตัวที่พบได้ในประเทศไทย มีรายงานว่าพวกมันกินทั้งชะนีและลิงกังเป็นอาหาร

ที่อยู่อาศัยของเสือลายเมฆ

สัตว์นักล่าสายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นเขตร้อน แต่ก็มีบางส่วนที่สามารถพบได้ในป่าชนิดอื่นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ป่าละเมาะ ป่าหญ้า หรือป่า 2 ชั้น สำหรับในประเทศไทยและพม่า เคยมีการพบเสือลายเมฆอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งโปร่งด้วย 

ในประเทศจีนพบว่า พวกมันอาศัยอยู่ตามพื้นที่ริมฝั่งทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และยังเคยพบเจอพวกมันตามตีนเขาหิมาลัยที่มีระดับความสูงกว่า 1,450 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลอีกด้วย คาดการณ์กันว่าพวกมันสามารถอาศัยอยู่บนยอดเขาที่มีความสูงกว่า 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลได้

วงจรชีวิตและการผสมพันธุ์ของเสือลายเมฆ

เสือลายเมฆ

เสือลายเมฆเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยแน่นอน เพราะพวกมันไม่ได้มีฤดูผสมพันธุ์ที่กำหนดอย่างตายตัว แต่โดยปกติแล้วพวกมันจะออกลูกได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม เวลาเสือตัวเมียเป็นสัดจะกินระยะเวลาประมาณ 6 วัน และเกิดขึ้นทุก 30 วันในช่วงฤดูผสมพันธุ์

เมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียก็จะหาโพรงไม้ที่อยู่ระดับพื้นดินเพื่อคลอดลูกอย่างปลอดภัย แต่ก็มีบางตัวที่คลอดลูกในรังระดับเดียวกับพื้นดินตามปกติ เพียงแต่รังจะอยู่กลางพุ่มไม้ทึบเพื่อป้องกันลูกน้อยจากสัตว์นักล่าตัวอื่น ๆ 

แม่เสือจะใช้เวลาในการตั้งท้องยาวนานสุด 93 วัน หลังจากนั้นก็จะคลอดลูกออกมาครั้งละประมาณ 1-5 ตัว น้ำหนักของเสือลายเมฆแรกเกิดจะอยู่ที่ประมาณ 140-170 กรัม เริ่มลืมตาครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 10 วันขึ้นไป จากนั้นอีก 10 วันก็จะเริ่มเดินตามแม่ได้แล้ว

เมื่อมีอายุครบ 10 สัปดาห์ พวกมันก็จะหันมากินเนื้อมากขึ้นและกินนมน้อยลง แต่ต้องรอจนถึงอายุ 5 เดือน กว่าจะหย่านมแม่อย่างถาวร หลังจากที่มีอายุได้ 6 เดือน ลูกเสือเหล่านี้ก็จะเริ่มมีลักษณะใกล้เคียงกับเสือตัวโตเต็มวัย

เมื่ออายุครบ 10 เดือน จะออกจากอ้อมอกแม่ไปหากินตามลำพัง แต่ก็ต้องรอจนกว่าจะ 24 เดือนขึ้นไป กว่าที่พวกมันจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และสามารถผสมพันธุ์ได้ และสามารถคลอดลูกได้จนกระทั่งมีอายุได้ประมาณ 15 ปี แต่อายุเฉลี่ยของพวกมันอยู่ที่ประมาณ 11 ปีเท่านั้น

ภัยคุกคามและความหวังของเสือลายเมฆ นักล่าผู้โดดเดี่ยว

เสือลายเมฆ

เสือลายเมฆอาจเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง พวกมันเพาะพันธุ์ได้ยาก เพราะตามธรรมชาติตัวผู้มักจะฆ่าตัวเมียอยู่เสมอ สำหรับบางตัวที่ได้รับการเลี้ยงในกรงซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมด การจะผสมเทียมหรือถ่ายเทตัวอ่อนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยังไม่รวมไปถึงภัยคุกคามอันดับ 1 ที่สัตว์ป่าทั่วโลกต้องเจออย่างการสูญเสียที่อยู่อาศัย เพราะมนุษย์บุกรุกเข้าไปสร้างชุมชนหรือทำพื้นที่การเกษตร และที่ร้ายแรงที่สุดคือ การล่า เนื่องจากหนังของพวกมันมีความสวยงามเป็นอย่างมาก พวกมันจึงกลายเป็นที่ต้องการในตลาดมืดสุด ๆ

แม้ว่าจะมีความพยายามอนุรักษ์มากแค่ไหน แต่ก็ยังคงมีคนลักลอบล่าพวกมันอยู่ดี สถานภาพประชากรที่ IUCN ระบุตอนนี้จึงเป็นสถานะเสียงสูญพันธุ์ สำหรับประเทศไทยได้ประกาศห้ามล่าและได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายสัตว์ป่าสงวน

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment