หนึ่งในสายพันธุ์เสือที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกก็ต้องยกให้ เสือโคร่ง พวกมันเป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่มีความดุร้ายมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมาพร้อมกับลวดลายที่สวยงาม แถมยังมีความชาญฉลาดและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ไม่แพ้ใคร ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมหลายคนจึงหลงเสน่ห์พวกมันเข้าอย่างเต็มเปา วันนี้เราจะพาทุกคนไปล้วงลึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเสือสายพันธุ์นี้กัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับเสือโคร่ง สุดยอดนักล่าผู้สง่างาม
เสือโคร่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สามารถมีน้ำหนักตัวได้ถึง 500 กิโลกรัม พวกมันจึงถูกจัดให้เป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในโลก โดยปกติแล้วขนตามลำตัวจะมีสีพื้นเป็นสีเหลืองแดง มีแถบสีดำพาดผ่านตลอดทั้งตัว ทั้งด้านบนและด้านล่าง
ตั้งแต่คางลงมาจนถึงท้องจะมีขนเป็นสีขาวหรือสีครีมอ่อน ๆ กระบอกปากยาวคล้ายแมว ตัวผู้จะมีขนบริเวณหลังแก้ม 2 ข้างที่ยาวเด่นออกมา จมูกเป็นสีชมพูดูน่ารัก ดวงตากลม ใบหูของเสือโคร่งจะเป็นทรงกลมขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป
ขาหน้าจะดูแข็งแรงและบึกบึนมากกว่าขาหลัง มีอุ้งเท้าขนาดใหญ่ ส่วนหางมีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว ใช้ในการรักษาสมดุลเวลาเคลื่อนที่ไปมา
รู้หรือไม่ บนโลกเล่าลือว่ามีเสือโคร่งสีดำและขาวด้วย
เรามักจะชินตากับภาพของเสือโคร่งเป็นแมวส้มมีลายพาดกลอนสีดำ แต่ว่ากันว่ามีบางตัวที่ขนเป็นสีดำด้วยเหมือนกัน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ถึงอย่างนั้นก็มีรายงานการพบเห็นอยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเคยพบหนังสีดำจากการจับกุมผู้ค้าสัตว์ในเดลฮีเมื่อปี 2535 อีกด้วย
สำหรับเสือตัวสีขาวจะมีอีกชื่อเรียกว่า เสือเบงกอลขาว พวกมันเหมือนกับเสือโคร่งตัวสีส้มปกติ เพียงแต่เปลี่ยนจากขนสีส้มกลายเป็นขนสีขาวแทน ปัจจุบันได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติในอินเดียไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีตามสวนสัตว์หลายแห่งทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศไทยของเราก็ตาม
สายพันธุ์ของเสือโคร่งและถิ่นที่อยู่อาศัย
- สายพันธุ์เบงกอล อาศัยอยู่ในคาบสมุทรเบงกอล
- สายพันธุ์แคสเปียน อาศัยอยู่บริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ตุรกี อิหร่าน เตอร์กิสถาน รัสเซีย และทางตะวันตกของประเทศจีน
- สายพันธุ์ไซบีเรีย อาศัยตามลุ่มแม่น้ำอะมูร์ในประเทศรัสเซีย และกระจายอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ รวมถึงทางตอนเหนือของประเทศจีน
- สายพันธุ์ชวา อาศัยอยู่บนเกาะชวาของประเทศอินโดนีเซีย
- สายพันธุ์จีนใต้ อาศัยอยู่ในประเทศจีนทางตอนใต้
- สายพันธุ์บาหลี อาศัยอยู่บนเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย
- สายพันธุ์สุมาตร อาศัยอยู่บนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย
- สายพันธุ์อินโดจีน อาศัยตามบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน
- สายพันธุ์มลายู อาศัยอยู่ตามบริเวณคาบสมุทรมลายูทางตอนใต้ ติดกับประเทศมาเลเซียและประเทศไทย
ลักษณะนิสัยและวิถีชีวิตของเสือโคร่ง
เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ออกหากินในช่วงหัวค่ำและเช้ามืด แต่บางครั้งในช่วงฤดูหนาวก็สามารถออกหากินในตอนกลางวันได้เหมือนกัน พวกมันจะใช้ประสาทการรับเสียงและการมองเห็นในการล่า อาหารของพวกมันมักเป็นสัตว์ขนาดใหญ่อย่าง เลียงผา หมูป่า กระทิง กวาง และวัว
พวกมันชอบการล่าสัตว์ขนาดใหญ่มากกว่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ ยกเว้นจะอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหารถึงจะล่าสัตว์ตัวเล็กอย่างปลา ลิง หรือนก หลังจากที่เสือโคร่งจับเหยื่อได้สำเร็จจะมีพฤติกรรมที่น่าสนใจคือ
พวกมันจะลากเหยื่อที่ล่าได้ไปยังบริเวณที่ลับตาสัตว์ตัวอื่น ๆ ส่วนใหญ่มักจะลากไปบริเวณใกล้แหล่งน้ำ เวลาหิวน้ำหลังกินเหยื่อจะได้กินน้ำสะดวก ๆ หากกินไม่หมดในคราวเดียวพวกมันก็จะอยู่ใกล้ ๆ ซากเหยื่อผู้โชคร้ายนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ตัวอื่นมากินซาก และบางครั้งก็มักจะเอากิ่งไม้หรือใบไม้มาปิดเหยื่อเอา ใน 1 มื้ออาหารพวกมันสามารถกินเหยื่อได้ 40 กิโลกรัม
ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะดูเป็นนักล่าผู้โหดร้าย แต่ความจริงแล้วอัตราการประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อของพวกมันค่อนข้างต่ำ เพราะพวกมันจะประสบความสำเร็จในการล่าเพียง 10% เท่านั้น หรือบางทีอาจต่ำกว่านั้นด้วย แต่ที่น่ากลัวก็คือพวกมันมีประวัติการฆ่าคนและกินคนมาก่อน สถิติตั้งแต่ปี 1902 จนถึงปี 1910 มีคนถูกเสือทำร้ายกว่า 851 คนต่อปีเลยทีเดียว
เสือโคร่ง มรดกทางธรรมชาติที่เราต้องร่วมมือกันอนุรักษ์
เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่สามารถผสมพันธุ์ได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ตัวเมียจะติดสัดประมาณ 3 สัปดาห์ ไปจนถึง 9 สัปดาห์ แต่จะยอมให้ตัวผู้มาผสมพันธุ์ด้วยไม่เกิน 6 วัน หลังผสมพันธุ์เสร็จ พวกมันสามารถออกลูกได้ 1 ถึง 7 ตัว หลังเกิดออกมา 14 วัน พวกมันก็จะเริ่มลืมตา จากนั้นก็จะหย่านมเมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน พออายุครบ 1 ปีก็สามารถออกล่าเหยื่อกับแม่ได้แล้ว และพออายุครบ 2 ปี ก็จะออกไปหากินตามลำพัง
ฟังดูเหมือนพวกมันสามารถออกลูกได้เรื่อย ๆ และไม่มีวี่แววว่าจะสูญพันธุ์ แต่ความจริงแล้วพวกมันจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่สถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากพวกมันมีความสวยงาม พรานเถื่อนทั้งหลายจึงพร้อมที่จะล่าพวกมันเพื่อเอาไปขายในตลาดมืด และการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่ออยู่อาศัยหรือการทำการเกษตร ก็ทำให้พวกมันต้องเสียชีวิตลงจากการฆ่าโดยคนในหมู่บ้านอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น สัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งยังถูกล่าอย่างหนักจนทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร ยิ่งสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในไซบีเรียที่ความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าที่อื่นยิ่งลำบาก ปัจจุบันพบว่าเราพวกมันเหลืออยู่ในธรรมชาติต่ำกว่า 7,700 ตัว ทั้งที่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีมากกว่า 100,000 ตัว
นอกจากนี้จากทั้งหมด 9 สายพันธุ์ ยังมีการสูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 สายพันธุ์เลยทีเดียว ในหลายประเทศจึงเริ่มออกกฎหมายคุ้มครองพวกมันเพื่อป้องกันการล่า ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ที่มีเสือสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me