เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ศัตรูตัวฉกาจของเหล่าเกษตรกร 

by animalkingdom
269 views
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การเป็นเกษตรกรในยุคนี้ก็ยากลำบากมากพออยู่แล้ว เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำให้พืชผลสามารถเจริญงอกงามและขายได้ในราคาดี นอกจากนี้ยังต้องเจอกับปัญหาแมลงอีกด้วย อย่าง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่เป็นปัญหาน่าปวดหัวเป็นอย่างมาก แมลงสายพันธุ์นี้ได้ก่อความวุ่นวายตามท้องนาจนเกษตรกรหลายคนท้อใจ ด้วยเหตุนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขากันว่า พวกเขาเป็นใคร อะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาแพร่ระบาดในพื้นที่เกษตรกรรมของเรา และเราจะมีวิธีการจัดการพวกเขาอย่างไรได้บ้าง ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแมลงปากดูด พวกเขาสามารถสร้างความเดือดร้อนรำคาญและความเสียหายให้กับไร่นาของเหล่าเกษตรกรได้อย่างง่ายเหลือเชื่อ ถึงแม้ว่าจะมีลำตัวขนาดเล็กกระจิ๊ดริ๊ดก็ตาม 

เมื่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโตเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประกอบไปด้วยสายพันธุ์ปีกสั้นและสายพันธุ์ปีกยาว 

สำหรับสายพันธุ์ปีกยาวเป็นสายพันธุ์ที่สร้างความปวดหัวได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาสามารถอพยพหรือเคลื่อนย้ายไปในระยะทางทั้งใกล้และไกลได้อย่างสะดวกสบายโดยการใช้กระแสลม ในขณะที่ประเภทปีกสั้นจะขยับขยายได้ไม่ไกลสักเท่าไหร่ 

วงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อโตเต็มวัย ตัวเมียจะทำการวางไข่เป็นกลุ่มบริเวณกาบใบข้าวหรือบริเวณเส้นกลางใบ วางเรียงเป็นแถวตั้งฉากไปกับใบข้าว บริเวณที่มีการวางไข่ก็จะเกิดรอยช้ำสีน้ำตาลบนใบข้าวที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน 

ลักษณะของไข่จะเป็นทรงกลมรีสีใส ๆ ออกเหลือง มีความโค้งมนลักษณะคล้ายกับกล้วย ตัวอ่อนจะมีถึง 5 ระยะการเจริญเติบโตเลยทีเดียว ที่น่าปวดหัวไปมากกว่านั้นก็คือ ตัวเมียสามารถวางไข่ได้เป็นจำนวนมากกว่า 100 ฟอง สำหรับสายพันธุ์ปีกยาว 

ส่วนสายพันธุ์ปีกสั้นสามารถวางไข่ได้เป็นจำนวนสูงถึง 300 ฟอง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีอายุขัยสั้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ หลังจากโตเต็มวัยก็ตาม แต่พวกเขาก็สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ในการปลูกข้าว 1 ฤดูพวกเขาสามารถเพิ่มปริมาณเผ่าพันธุ์ได้ 2-3 รุ่นกันเลยทีเดียว

การแพร่ระบาดและการทำลายพืชพันธุ์ 

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นศัตรูพืชที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าว แถมยังสามารถทำลายกล้าข้าวได้ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนกันเลยทีเดียว 

เนื่องจากพวกเขาเป็นแมลงปากดูด ดังนั้นพวกเขาจึงอาศัยการดูดน้ำเลี้ยงบริเวณเซลล์ท่อน้ำของโคนต้นข้าวที่ขึ้นมาเหนือระดับน้ำ ทำให้ต้นข้าวแห้งตายเป็นหย่อม ๆ สังเกตเห็นได้จากการที่ต้นข้าวจะมีใบเหลืองและแห้งกรอบเหมือนกับโดนน้ำร้อนลวก 

ในทางเกษตรกรรมเรียกอาการนี้ว่า อาการไม้ สามารถพบได้ในช่วงที่ข้าวกำลังแตกกอไปจนถึงตอนที่กำลังออกรวงกันเลยทีเดียว หากนาข้าวขาดน้ำพวกตัวอ่อนก็จะลงมากองกันอยู่ที่โคนต้นหรือบริเวณดินที่มีความชื้น 

นอกจากจะทำลายต้นข้าวยังสามารถนำพาโรคใบหงิกมาติดต้นข้าวได้อีกด้วย ทำให้ต้นข้าวมีขนาดเล็ก แคระเกรน ปลายบิดงอจนเป็นเกลียว ขอบใบแหว่งอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น 

ปัจจัยในการแพร่ระบาด 

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น 

  1. ปริมาณน้ำ หากนาข้าวเป็นนาที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจะสามารถกระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากมีการระบายน้ำบ้างเป็นครั้งคราวก็จะทำให้ความชื้นไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพวกเขา และช่วยลดปริมาณพวกเขาลงได้บ้าง 
  2. ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยในอัตราสูงหรือปุ๋ยไนโตรเจนจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อย่างรวดเร็วเลยทีเดียว เนื่องจากปุ๋ยเหล่านี้ช่วยให้ข้าวมีใบเขียวและดูหนาแน่น ลำต้นมีความอวบอิ่มเหมาะสำหรับการดูดกินน้ำเลี้ยงมากขึ้นกว่าเดิม
  3. วิธีปลูก หากใช้วิธีปลูกด้วยการหว่านจะทำให้มีโอกาสในการแพร่ระบาดมากกว่าการดำนา เนื่องจากการหว่านเมล็ดจะทำให้ต้นข้าวขึ้นมาอย่างหนาแน่น ทั้งความชื้นและอุณหภูมิมีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตและการอยู่อาศัยของพวกเขา
  4. การใช้สารเคมี หากคุณใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงในช่วงที่พวกเขาโตเต็มวัยโดยเฉพาะสายพันธุ์ปีกยาว หรือช่วงที่พวกเขากำลังอพยพเข้ามาใหม่ ๆ ศัตรูธรรมชาติของพวกเขาจะถูกทำลายจนหมดสิ้นทำให้ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติที่ช่วยควบคุมประชากรของพวกเขาให้อยู่ในปริมาณที่จำกัด 

เปิดวิธีการจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้อยู่หมัด 

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
  1. ใช้ศัตรูธรรมชาติ เป็นวิธีการกำจัดแมลงอย่างเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแบบอินทรีย์ ไม่พึ่งสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยศัตรูธรรมชาติของพวกเขาจะประกอบไปด้วยแมงมุมสุนัขป่า จัดอยู่ในกลุ่มตัวห้ำที่สามารถควบคุมปริมาณประชากรของแมลงชนิดนี้ได้ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัย หรือมวนเขียวดูดไข่ เป็นตัวห้ำที่จะคอยทำลายไข่ของแมลงสายพันธุ์นี้ด้วยการดูดกินของเหลวในไข่ แต่ส่วนใหญ่มักจะพบอยู่ในภาคกลางมากที่สุด พวกเขามักจะอพยพมาพร้อมกับแมลงเหล่านี้เพื่อตามมากินน้ำเลี้ยงในไข่นั่นเอง ดังนั้นในช่วงแรกเราจึงไม่ควรใช้สารเคมีเพราะจะทำให้ศัตรูตามธรรมชาติเหล่านี้ถูกฆ่าไปด้วย 
  2. การเลือกพันธุ์ข้าว ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวอยู่หลายพันเลยทีเดียวที่สามารถต้านทานพวกเขาได้ อย่างเช่นสุพรรณบุรี 1, ปทุมธานี 1, ชัยนาท 1, ชัยนาท 2, สุพรรณบุรี 2, พิษณุโลก 2, สิ่งสำคัญก็คือ เกษตรกรไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์เดียวกันติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกิน 4 ฤดู ให้ปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ที่สามารถต้านทานแมลงได้และพันธุ์ที่อ่อนแอ เพื่อเป็นการลดความเสียหายเวลาที่เกิดการระบาดของแมลงอย่างรุนแรง 
  3. ยาฆ่าแมลง เป็นหนทางสุดท้ายที่เราอยากจะแนะนำเนื่องจากมันจะไปทำลายศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วย เราแนะนำให้ใช้ก็ต่อเมื่อสัดส่วนของเพลี้ยที่โตเต็มวัยต่อกลุ่มมวนเขียวดูดไข่อยู่ที่ 6 ต่อ 1 ไปจนถึง 8 ต่อ 1 หลังจากข้าวอายุประมาณ 1 เดือนถึง 45 วัน 1 ต้นมีจำนวนเพลี้ยมากกว่า 10 ตัว ให้เลือกใช้บูโพรเฟซิน (แอปพลอด 10% ดับบลิวพี) หรืออีโทเฟนพรอกซ์ (ทรีบอน 10% อีซี) ในการกำจัดพวกเขา แต่ไม่ควรใช้สารในกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้นกว่าเดิม 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment