ฉลามหัวค้อน นักล่าแห่งท้องทะเลที่มาพร้อมหัวรูปทรงประหลาด 

by animalkingdom
552 views
ฉลามหัวค้อน

หัวของสัตว์ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้มักจะเป็นทรงกลมธรรมดาทั่วไป แต่ก็มีอยู่บางสายพันธุ์เช่นเดียวกันที่มีลักษณะหัวแปลกประหลาดอย่างถึงขีดสุด อย่างฉลามหัวค้อนที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ บริเวณหัวของพวกเขาจะมีส่วนของกะโหลกที่ยื่นออกมา มีลักษณะแบนและยาวขวางกับลำตัว แถมยังยาวใช่เล่นอีกต่างหาก เป็นที่มาที่ทำให้มนุษย์เราเรียกพวกเขาอย่างนั้น นอกจากหัวแล้วยังมีอะไรอีกมากมายที่น่าสนใจ เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้น

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ทำความรู้จักกับฉลามหัวค้อน ปลาที่ไม่ได้มีความแปลกแค่หัวของพวกมัน 

ฉลามหัวค้อน

ฉลามหัวค้อน เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลักษณะทางกายภาพของพวกเขา ลักษณะหัวของพวกเขาจะมีความแบนราบและแผ่ออกไปด้านข้างคล้ายกับปีก เมื่อรวมกับลำตัวของพวกเขาแล้วจึงดูละม้ายคล้ายคลึงกับค้อน จนกลายเป็นที่มาของชื่อฉลามหัวค้อนนั่นเอง 

ดวงตาของพวกเขาจะอยู่บริเวณปลายสุดของกะโหลกทั้งสองข้าง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริงได้ว่า ทำไมหัวของฉลามหัวค้อนจึงมีลักษณะแบบนั้น แต่คาดการณ์กันว่ามันน่าจะช่วยให้สามารถพุ่งตัวแบบแนวดิ่งได้ดีและง่ายดายมากขึ้น 

สามารถช่วยเพิ่มประสาทสัมผัสการรับรู้ และยังช่วยลดแรงต้านน้ำเวลาไล่งับเหยื่อให้เหลือน้อยลงกว่าเดิม เวลาที่เอี้ยวตัวเลี้ยวไปมาในน้ำ ตำแหน่งตาของพวกเขาจะได้เปรียบมากกว่าฉลามสายพันธุ์อื่น เพราะมันสามารถมองภาพได้กว้างกว่า แถมยังเห็นภาพในรูปแบบ 3 มิติอีกด้วย 

ฉลามหัวค้อน

นอกจากดวงตาจะแปลกประหลาดแล้ว รูจมูกของฉลามหัวค้อนยังแยกออกจากกันอีกด้วย การมีจมูกแต่ละรูอยู่ห่างกันช่วยเพิ่มประสาทการรับกลิ่นได้เป็นอย่างดี ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือ พวกเขาสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ สำหรับการล่าเหยื่อได้ด้วย 

ซึ่งสามารถใช้ได้กับเหยื่อที่อยู่ในน้ำธรรมดาทั่วไปหรือเหยื่อที่ซ่อนตัวอยู่ในดิน แต่ปัญหาของฉลามหัวค้อนก็คือพวกเขาจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าใกล้ ๆ ได้ พวกเขามีจุดบอดอยู่ตรงบริเวณกึ่งกลาง คล้ายกับเวลาม้ามองภาพด้วยตาที่อยู่สองฝั่งของกะโหลกนั่นเอง 

แต่โชคดีที่ฉลามหัวค้อนมีนิสัยที่ดุร้าย และยังมีขนาดตัวที่ใหญ่โต ศัตรูตามธรรมชาติของพวกเขาจึงไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ ปัญหานี้จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของพวกเขามากมายนัก  

เปิดพฤติกรรมที่น่าสนใจของฉลามหัวค้อน 

ฉลามหัวค้อน

ฉลามหัวค้อน เป็นสัตว์นักล่าที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเหยื่อของพวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นปลากระดูกแข็งที่มีขนาดเล็ก รวมไปถึงปลากระเบน ปลากระดูกอ่อน กุ้ง หอย ปู และปลาหมึก บางทีก็สามารถล่าสัตว์ตัวใหญ่จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างแมวน้ำหรือโลมาได้อีกด้วย พื้นที่หากินจะอยู่บริเวณแนวปะการังไปจนถึงใต้ทะเลที่มีความลึกประมาณ 275 เมตร 

พฤติกรรมของฉลามหัวค้อนคือ พวกเขาจะว่ายน้ำไปมาแบบไม่หยุดหย่อนตลอดเวลา ซึ่งพวกเขาสามารถว่ายน้ำในระยะไกล ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้พื้นที่หากินค่อนข้างกว้างกว่าปลาสายพันธุ์อื่น นอกจากนี้ยังทำความเร็วในการว่ายน้ำได้ถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย อายุขัยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 25 ปีในธรรมชาติ 

ถึงเป็นปลา แต่พวกเขาก็ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน สามารถตกลูกได้ตั้งแต่ครั้งละ 4 ตัวไปจนถึง 37 ตัวเลยทีเดียว การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนตัวเมียตกไข่เป็นเวลายาวนานถึง 2 เดือน หลังจากนั้นตัวเมียจะสามารถเก็บน้ำเชื้อไว้ภายในต่อมสร้างเปลือกไข่ได้ 

ไข่ที่ได้รับการผสมจะมาจากรังไข่ทางฝั่งขวาเท่านั้น หลังจากผสมเรียบร้อยแล้วตัวอ่อนก็จะได้รับทั้งสารอาหารและออกซิเจนผ่านถุงไข่และพู่เหงือกของพวกเขา หลังจากที่โตขึ้นสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปตามธรรมชาติ 

พื้นที่อยู่อาศัยของฉลามหัวค้อนจะกระจายอยู่ทั่วไปในมหาสมุทรแปซิฟิกและหมู่เกาะกาลาปาโกส มักจะออกหากินรวมกันเป็นฝูง ในหนึ่งฝูงจะมีประมาณ 10-20 ตัว นอกจากจะว่ายน้ำพร้อมกันเพื่อออกไปหากินแล้ว ยังมีการสื่อสารและระบบสังคมอีกด้วย 

พวกเขาจะพูดคุยกันด้วยการสั่นหัวไปมาอย่างรุนแรง การบิดตัวในท่าทางที่แปลกประหลาด หรือการเร่งความเร็วขึ้นมาแบบกะทันหัน เป็นการสื่อสารกันที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในกลุ่ม ตอนกลางวันพวกเขาจะพักผ่อนอยู่บริเวณภูเขาไฟใต้ทะเล พอเข้าสู่ช่วงกลางคืนก็จะแยกกันออกไปหาอาหาร 

กิจวัตรของพวกเขาเป็นแบบนี้ในทุกวัน เมื่อหากินเสร็จก็จะกลับเข้าสู่พื้นที่ภูเขาไฟใต้ทะเลในตอนรุ่งเช้า และกลับไปทำเหมือนเดิมอีกครั้ง ในช่วงค่ำของวันถัดไป

ชะตากรรมของฉลามหัวค้อนเป็นอย่างไรก่อนถูกจัดขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง 

ฉลามหัวค้อน

ฉลามหัวค้อน เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วงไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะในน่านน้ำไทย พวกเขาได้รับผลกระทบจากการทำประมงเหมือนกับปลาสายพันธุ์อื่นทั่วท้องทะเล แถมยังมีการลักลอบนำเอาลูกปลาฉลามไปขายในตลาดมืดอีกด้วย

ปัจจุบันจึงมีความพยายามผลักดันให้พวกเขากลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และล่าสุดคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดสัตว์ป่าบางชนิดให้กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเรียบร้อยแล้ว และฉลามหัวค้อนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าสงวนในการจัดการคนที่ทำร้าย จับ หรือฆ่าพวกเขา 

ก่อนที่พวกเขาจะกลายมาเป็นสัตว์ที่เตรียมขึ้นชื่อในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง สถานการณ์ของพวกเขาค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีฉลามทั่วโลกถูกจับจากการทำประมงเป็นจำนวนมากกว่า 100 ล้านตัวตลอดทั้งปี ไม่เว้นแม้กระทั่งฉลามหัวค้อนเองก็ตาม 

ส่งผลกระทบต่อวิกฤตประชากรฉลามเป็นอย่างมาก หลายองค์กรทั่วทั้งโลกจึงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์พวกเขามากขึ้นกว่าเดิม แต่ถึงอย่างนั้นฉลามหัวค้อนก็ยังคงมีราคาสูงในตลาดมืดอยู่ดี 

และยิ่งถูกจัดเข้าบัญชีสัตว์คุ้มครองก็คงจะมีราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จัดการปัญหาการคุกคามสัตว์ทะเลอย่างจริงจัง ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทั่วโลก จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment