ปลากะพง เจ้าแห่งท้องทะเลไทยผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการประมง

by animalkingdom
73 views
ปลากะพง

ปลาที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำบนหน้าเมนูอาหารตามร้านอาหารต่าง ๆ คงหนีไม่พ้นปลากะพง สัตว์เศรษฐกิจที่พยุงการประมงของประเทศไทยและสร้างรายได้อย่างมหาศาล พวกมันเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ที่ทั้งเลี้ยงง่าย โตเร็ว รสชาติดี ที่สำคัญคือมีราคาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจหากในทวีปเอเชียจะมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์นี้เป็นจำนวนมาก วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปลาสายพันธุ์นี้ให้มากขึ้น พวกมันจะมีลักษณะเป็นอย่างไร และจะน่าสนใจแค่ไหน ไปติดตามกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับปลากะพง จากสัตว์ตามธรรมชาติสู่เมนูอร่อยบนโต๊ะอาหาร

ปลากะพง

ปลากะพง ไม่ใช่ปลาน้ำจืดเสียทีเดียว เพราะความจริงแล้วตามธรรมชาติพวกมันมักอาศัยอยู่บริเวณเขตน้ำกร่อยเสียมากกว่า และจัดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำกร่อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกสายพันธุ์หนึ่งเลยทีเดียว พวกมันได้รับความนิยมในการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย 

สำหรับในประเทศไทยไม่ได้มีการส่งขายปลากะพงเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีนหรือมาเลเซีย 

การเริ่มต้นเพาะเลี้ยงครั้งแรกเกิดขึ้นในสถานีประมงจังหวัดสงขลาเมื่อปี 2514 และประสบความสำเร็จอย่างงดงามจนมีการศึกษาและพัฒนาการเพาะพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะลำตัวของพวกมันจะมีขนาดใหญ่ มีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งสีขาว สีดำ สีแดง และแบบมีลาย แต่สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการเพาะเลี้ยงและรับประทานมากที่สุดคือ ปลากะพงขาว ลำตัวจะค่อนข้างยาว หนา มีความแบนข้าง ๆ เล็กน้อยเหมือนปลาทั่วไป

โหนกหลังด้านบนจะโค้งมน ส่วนลำตัวด้านล่างจะลาดเว้าลงมา ขากรรไกรล่างจะยืดยาวออกมาจากขากรรไกรบน ปากกว้าง ขอบปากมีลักษณะเป็นแผ่นขนาดใหญ่ที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่า 

ดวงตาของปลากะพงนั้นค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว เช่นเดียวกับแก้มที่มีขนาดใหญ่ ขอบหลังจะมีหนามแหลมทั้งหมด 4 ซี่เรียงต่อกันตามแนวหลังด้านบน ทั้งส่วนหัวและแผ่นเหงือก เกล็ดตามลำตัวจะมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ เกล็ดตรงกลางลำตัวจะค่อนข้างใหญ่ สีของเกล็ดมีตั้งแต่สีเงินสว่างไปจนถึงสีดำ

การแพร่กระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัย

ปลากะพง

ปลากะพงมักจะกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำกร่อยขนาดใหญ่ แต่ก็สามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืดและน้ำเค็มได้เช่นกัน พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยที่พบได้ทั่วไปตามจังหวัดชายทะเล ประเทศจีนทางตอนใต้ เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

ในบางช่วงเวลาก็สามารถพบพวกมันอาศัยและเจริญเติบโตในแหล่งน้ำจืดได้ หรือบางตัวก็อาจจะลงไปอยู่ในน้ำทะเลได้เช่นกัน เป็นปลาที่สามารถอยู่ในน้ำได้หลากหลายรูปแบบ และมีการอพยพไปมาระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืด

เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์ ปลากะพงจะเดินทางไปยังบริเวณปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ตามธรรมชาติแล้วพวกมันเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้รวดเร็วว่องไว เวลาตกใจหรือไล่เหยื่อจะสามารถกระโดดโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้ แต่ตามปกติแล้วก็มักจะซุกซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ ใต้น้ำ

เวลาหากินจะไปในบริเวณที่มีกระแสน้ำอ่อน โดยปกติจะไม่อยู่รวมกันเป็นฝูง ยกเว้นเฉพาะช่วงเวลาผสมพันธุ์เท่านั้นจึงจะจับกลุ่มอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เนื่องจากพวกมันมีความแข็งแรงทนทานและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมพวกมันจึงได้รับความนิยมเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ

วิถีชีวิตและการผสมพันธุ์

ปลากะพง กินสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กกว่าพวกมันเป็นอาหารได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลาขนาดเล็ก ลูกปลา ปู หรือกุ้ง และยังสามารถกินปลาสายพันธุ์เดียวกันที่ตัวเล็กกว่าได้อีกด้วย แต่เวลาที่เราเอามาเลี้ยงก็สามารถให้เป็นซากสัตว์ เศษปลา หรืออาหารสัตว์สำเร็จรูปได้

พวกมันจะมีความพร้อมในการผสมพันธุ์เมื่อมีน้ำหนักตัวประมาณ 3 กิโลกรัม มีความยาว 0.5 เมตร อายุตามธรรมชาติประมาณ 3 ปีครึ่งขึ้นไป โดยปกติแล้วตัวเมียที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ มักจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าปลาตัวผู้ ฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในช่วงฤดูร้อน ปลากะพงจะอพยพไปยังแหล่งน้ำกร่อยเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ เสร็จแล้วก็จะพากันเดินทางกลับมาปากแม่น้ำเพื่อใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ

ข้อควรรู้ก่อนทำฟาร์มปลากะพง สัตว์เศรษฐกิจเลี้ยงง่าย ขายคล่อง กำไรดี

ปลากะพง

ปลากะพงเป็นปลาที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเชิงพาณิชย์ตามจังหวัดแถบชายทะเล ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เนื่องจากพวกมันเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ราคาสูง แต่ก่อนจะตัดสินใจทำฟาร์มเราก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนในภายหลัง โดยสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจเลี้ยงมีดังนี้

  • การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปลากะพงที่เหมาะสำหรับการเป็นพ่อพันธุ์จะต้องมีความยาวตั้งแต่ 0.5 เมตรขึ้นไป มีน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนตัวเมียควรมีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป นอกจากนี้ควรมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปด้วย เพื่อให้ร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการวางไข่อย่างเต็มที่
  • การเพาะไข่ หลังจากที่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ผสมพันธุ์กันเรียบร้อยแล้ว เช้าวันต่อมาเราจะรวบรวมไข่ปลาที่ลอยน้ำอยู่ด้วยการใช้กระชอนช้อนออกมาแล้วนำเอาไปไว้ในบ่อฟัก น้ำในบ่อควรเป็นน้ำทะเลที่สะอาดและความเค็มอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับบ่อแรก นั่นก็คือไม่เกิน 30 ส่วน 1,000 น้ำต้องหมุนเวียนตลอดเวลาและมีการเพิ่มอากาศอยู่เสมอ
  • การดูแลลูกปลา หลังจากปลาฟักตัวออกมาจากไข่จนมีอายุ 1 เดือน ควรจัดให้ลูกปลากะพงเหล่านี้อยู่ในบ่อที่มีความหนาแน่นประมาณ 50-100 ตัว ต่อน้ำ 1 ลิตร อาหารควรเป็นแพลงก์ตอนพืชขนาดเล็กหรือเนื้อปลาสับละเอียด เนื่องจากในช่วงนี้พวกมันจะยังเป็นสัตว์กินเนื้ออยู่ เมื่ออายุเกิน 1 เดือนขึ้นไป ก็สามารถปล่อยพวกมันลงในบ่อหรือกระชังได้

รูปแบบการเลี้ยงแต่ละประเภท

ปลากะพง
  1. เลี้ยงในนาข้าว วิธีเลี้ยงปลาในนาข้าวคือทำความสะอาดนาข้าวและเติมน้ำจืด ก่อนจะนำเอาลูกปลาที่มีขนาดประมาณ 2 นิ้วปล่อยลงไป โดยปกติแล้วพวกมันก็จะหากินลูกปลาสายพันธุ์อื่นหรือกุ้งฝอยในบ่อเป็นอาหาร
  2. เลี้ยงในนากุ้ง ลักษณะดังกล่าวเป็นการเลี้ยงแบบให้ปลาหากินเองตามธรรมชาติเช่นกัน สำหรับใครที่มีนากุ้งแต่ไม่ได้เลี้ยงกุ้งแล้ว ก็สามารถเลี้ยงปลากะพงแทนได้โดยใช้สถานที่เดิม เริ่มต้นจากการทำความสะอาดและตากนาเอาไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นก็ปล่อยน้ำเข้านากุ้งและนำเอาลูกปลาที่มีขนาดตัวประมาณ 2 นิ้วปล่อยลงไป
  3. เลี้ยงในบ่อดินพัฒนา หากมีระบบน้ำที่ดีและให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ การเลี้ยงในบ่อดินจะได้อัตราความหนาแน่นของปลาที่มากขึ้น บ่อควรมีขนาดประมาณครึ่งไร่ขึ้นไปจนถึง 2 ไร่ น้ำลึกประมาณ 2 เมตร ให้อาหารเป็นประจำ ปลากะพงที่เลี้ยงในบ่อดินจะมีอัตราการรอดตายประมาณ 80%
  4. เลี้ยงในกระชัง เป็นวิธีการที่ค่อนข้างได้รับความนิยม โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ตามชายหาด มีทั้งเลี้ยงแบบกระชังอยู่กับที่และกระชังลอยน้ำ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment