ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นคำที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า ปลาเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะ ปลาช่อน ปลาที่ตามธรรมชาตินั้นจัดว่าเป็นนักล่าที่ทรงพลัง อีกทั้งมาพร้อมกับขนาดตัวที่ใหญ่โตน่าเกรงขาม แต่สำหรับมนุษย์แล้วพวกมันเป็นวัตถุดิบรสเลิศ ที่สามารถนำเอามาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย ใครที่อยากทำความรู้จักกับพวกมันให้มากขึ้นหรืออยากจะลองเลี้ยงเป็นอาชีพ วันนี้เรามีรายละเอียดมาให้
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับปลาช่อน สิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมากกว่าแค่ความอร่อย
ปลาช่อน จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจพื้นเมืองของประเทศไทย เราจึงสามารถพบพวกมันได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติทุกภาค ส่วนใหญ่แล้วพวกมันมักอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ หนองบึง ลำคลอง รวมถึงในทะเลสาบ อีกทั้งยังมีการสืบสายพันธุ์มาอย่างยาวนานนับพันปี นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในประเทศอื่นของทวีปเอเชียอย่าง ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา และประเทศจีน
สำหรับประเทศไทยมีบันทึกข้อมูลว่า มีการนำเอาปลาช่อนเข้ามาเพาะเลี้ยงครั้งแรกในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา โดยมีชาวจีนในตลาดบางลี่เป็นนายทุนรวบรวมพันธุ์ปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติมาทดลองเลี้ยง
เมื่อเห็นว่าสามารถเลี้ยงได้จึงออกทุนให้กับชาวญวน ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำท่าจีนรวมถึงคลองสองพี่น้อง ให้สร้างกระชังขึ้นมาและเพาะปลาช่อนเอาไว้เพื่อเลี้ยง แต่ถึงอย่างนั้นวิธีการดังกล่าวก็ใช้อยู่ได้ไม่นานก่อนจะเลิกไป เพราะเกษตรกรบางส่วนพบว่า การเลี้ยงในบ่อดินมีต้นทุนต่ำกว่า และยังได้ผลผลิตที่ดีกว่าอีกด้วย
ลักษณะโดยทั่วไป
ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดมีเกล็ดที่ตามลำตัวเป็นทรงเรียวยาว มีความอ้วนกลม ครีบส่วนต่าง ๆ ตามลำตัวจะแบนออกด้านข้าง มีเกล็ดขนาดค่อนข้างใหญ่ มักเป็นสีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม สีดำอมเทา และสีเหลืองอ่อน ข้างลำตัวจะมีลายพาดเฉียงคล้ายกับลายของเสือโคร่ง มาพร้อมอวัยวะพิเศษที่ช่วยพวกมันสามารถหายใจได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ สามารถอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นสูงได้นาน แถมยังอยู่บนบกหรือแม้แต่ฝังตัวอยู่ในโคลนได้
การกระจายพันธุ์
ปลาช่อนในเชิงปศุสัตว์แล้วถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาล เพราะพวกมันสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม แต่เวลาที่แม่ปลาพร้อมสำหรับการวางไข่มากที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม
ช่วงนี้เราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างปลาตัวผู้และตัวเมียอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยปลาตัวเมียจะมีท้องที่นูนออกมา ช่องเพศของพวกมันจะเป็นสีชมพูและขยายใหญ่ขึ้น ส่วนปลาตัวผู้ก็จะมีสีเข้มขึ้นเช่นกัน
พ่อแม่พันธุ์ที่ดีจะต้องมีน้ำหนักตั้งแต่ 800 กรัมขึ้นไป พวกมันจึงจะมีสุขภาพแข็งแรงและพร้อมต่อการวางไข่มากที่สุด โดยปกติหากอยู่ในธรรมชาติปลาช่อนจะทำการสร้างรังและวางไข่ในบริเวณที่เป็นน้ำนิ่ง ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตรไปจนถึง 1 เมตร
ปลาตัวผู้จะเป็นคนสร้างรังโดยการนำเอาไม้น้ำหรือหญ้ามาขดรวมกันให้เป็นวงกลมคล้ายกับรังของนก ส่วนแม่ปลาก็จะทำการวางไข่ลงไปในรัง พ่อแม่ปลาจะคอยดูแลรักษาไข่ปลาอยู่ไม่ไกล เพื่อป้องกันไม่ให้มีศัตรูเข้ามาใกล้ เมื่อลูกปลาฟักตัวออกมา พ่อแม่ปลาก็จะยังดูแลและสอนการหาอาหารให้ด้วย หลังจากลูกปลามีขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร ก็จะแยกออกไปใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาช่อนก่อนตัดสินใจเลี้ยง
ปลาช่อนค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มคนเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ ก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยง อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เริ่มต้นจากการสังเกตที่ภายนอก พวกมันควรมีรูปร่างที่ดูสมบูรณ์ เนื้อตัวไม่มีแผลหรือเป็นรอยบอบช้ำ น้ำหนักตั้งแต่ 800 กรัมขึ้นไป และควรเป็นปลาที่มีอายุประมาณ 1 ปี ตัวเมียจะต้องมีท้องที่อูมออกมาเล็กน้อย อวัยวะสืบพันธุ์ควรเป็นสีแดงหรือสีชมพู เพราะมันเป็นการแสดงให้เห็นว่า พวกมันพร้อมแล้วสำหรับการผสมพันธุ์นั่นเอง
การเพาะพันธุ์
ปลาช่อนสามารถเพาะพันธุ์ได้ 2 วิธี นั่นก็คือ การเลียนแบบธรรมชาติด้วยการทำบ่อดิน หรือจะผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ ฉีดเร่งให้ปลาวางไข่มากขึ้นกว่าเดิมและรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อก็ได้เหมือนกัน หลังจากนั้นเราก็จะได้ไข่ออกมาเป็นทรงกลมเล็ก ๆ สีเหลืองใส ใช้เวลาในการฟักตัวเพียง 35 ชั่วโมงเท่านั้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 27 องศาเซลเซียส
การดูแลลูกปลาตั้งแต่อยู่ในไข่
ปลาช่อนอาจไม่ได้จัดอยู่ในฐานะของสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลอย่างดี แต่เราก็ต้องดูแลพวกมันให้ดีตั้งแต่อยู่ในไข่เช่นกัน เมื่อเรากำหนดอุณหภูมิบ่อเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว ลูกปลาก็จะฟักตัวออกมามากขึ้นกว่าเดิม ช่วยลดอัตราการเกิดไข่เสียได้เป็นอย่างดี
ลูกปลาที่เกิดใหม่จะมีตัวเป็นสีดำและมีถุงไข่ลอยขึ้นมาพร้อมกับตัวของพวกมันบริเวณผิวน้ำ ต้องรอประมาณ 2-3 วัน พวกมันถึงจะพลิกตัวกลับและสามารถว่ายน้ำไปรวมกับพ่อแม่ได้ ในช่วงแรกพวกมันจะกินอาหารที่อยู่ในถุงไข่แดงที่ติดตัวอยู่นั้นเป็นอาหาร
เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 4 ก็สามารถเริ่มให้อาหารลูกปลาช่อนได้ ด้วยการใช้ไข่แดงต้มจนสุกบดละเอียดแล้วละลายน้ำและกรองด้วยผ้าขาวบาง นำเอาไปให้ลูกปลากินวันละ 3 มื้อ เมื่อเข้าสู่วันที่ 6 ให้เปลี่ยนอาหารเป็นไรแดง และเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ ก็สามารถเริ่มให้อาหารเสริมอย่างเช่นปลาสับหรือปลาป่นได้
รายละเอียดการเลี้ยงเบื้องต้น
ปลาช่อนเป็นสัตว์กินเนื้อ พวกมันจึงต้องการโปรตีนในอาหารเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจึงมักเลี้ยงพวกมันด้วยปลาเป็ด ส่วนอย่างอื่นที่เราควรรู้จะประกอบไปด้วย
- สถานที่เลี้ยง ควรเป็นบริเวณที่ใกล้กับแหล่งน้ำจืดและมีน้ำให้ใช้ตลอดทั้งปี ค่าความเป็นกรดและด่างของน้ำต้องไม่มากจนเกินไป ด้านล่างของบ่อควรเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนปนทราย จะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของพวกมันมากที่สุด
- การเตรียมบ่อเลี้ยง พื้นที่ที่เหมาะสมควรเริ่มต้นตั้งแต่ครึ่งไร่ขึ้นไปต่อ 1 บ่อ มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร แต่ไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ควรมีคันดินบริเวณปากบ่อเพื่อให้สามารถเก็บน้ำได้ดีขึ้น โดยกำหนดให้น้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าคันดิน 0.8 เมตร จากนั้นให้นำเอาตาข่ายไนลอนมาปิดปากบ่อเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันกระโดดหนีขึ้นมา อัดดินก้นบ่อให้แน่น ปรับสภาพดินด้วยการโรยปูนขาว 60-100 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับปรับสภาพให้เหมาะสมและฆ่าพยาธิ จากนั้นตากบ่อเอาไว้ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 40-80 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ เสร็จแล้วก็สามารถเปิดน้ำเข้าบ่อแล้วนำเอาปลามาเลี้ยงได้เลย
- โรคที่พบบ่อย มักเป็นพยาธิภายนอกที่จะทำให้พวกมันมีแผลอยู่ตามลำตัว โรคท้องบวมหรือมีเกล็ดตามลำตัวหลุดออกมา มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และสุดท้ายคือพยาธิภายใน ทำให้พวกมันกินอาหารไม่น้อยลงและผอมลง
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me