ปลาดุก สุดยอดราชาแห่งบ่อดิน สัตว์เศรษฐกิจเลี้ยงง่าย เนื้ออร่อย

by animalkingdom
85 views
ปลาดุก

ประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก จนมีคำกล่าวเอาไว้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เรามีปลาท้องถิ่นหลายสายพันธุ์ที่นิยมรับประทานกันมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะปลาดุก ปลาที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ รสชาติหวานอร่อย เนื้อแน่น สามารถปรุงได้หลายเมนู แถมยังเป็นสะพานบุญของเหล่าพุทธศาสนิกชนในการทำบุญปล่อยสัตว์อีกด้วย ในเมื่อพวกมันเป็นปลาประจำถิ่นของประเทศไทย เราจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกมันให้มากขึ้น

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับปลาดุก ปลาเศรษฐกิจสร้างรายได้ กำไรดี 

ปลาดุก

ปลาดุก ปลาน้ำจืดที่ได้รับความนิยมในนำไปประกอบอาหารเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ ลักษณะที่โดดเด่นของพวกมันคือ เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ดตามลำตัว พวกมันจึงมีผิวหนังที่ลื่นและเป็นเมือก สามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดในประเทศ และยังได้รับความนิยมในการเลี้ยงเชิงปศุสัตว์เพื่อขายอีกด้วย

พวกมันถูกจัดให้อยู่ในสกุลปลาหนังน้ำจืดวงศ์เดียวกับพวกปลาสวาย ปลากด ปลาเทโพ ปลาแขยง ปลาบึก และปลาเทพา หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าพวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อ เนื่องจากมีนิสัยที่ค่อนข้างไม่เป็นมิตร นอกจากนี้ยังมีเงี่ยงที่ถือว่าอันตรายอีกด้วย แต่ความจริงแล้วพวกมันสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ แถมยังกินซากสัตว์ได้อีกต่างหาก เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย สามารถกินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของปลาดุกคือ ดวงตามีที่ขนาดเล็ก หัวจะแบนออกไปด้านข้างและขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว มีหนวดทั้งหมด 4 คู่ บริเวณรอบปาก ใช้ในการจับทิศทางแทนการมองเห็น บริเวณครีบอกจะมีเงี่ยงที่แหลมคม ผิวหนังเป็นสีเทา สีดำ และสีน้ำตาลเข้ม บางสายพันธุ์สามารถมีลายจุดตามตัวได้ด้วย

ครีบหางของปลาดุกจะทั้งเล็กและสั้น มีปลายกลมมน เช่นเดียวกับครีบท้องที่มีขนาดเล็กเหมือนกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ พวกมันมีอวัยวะพิเศษ ที่มีลักษณะเหมือนกับฟองน้ำสีแดงซ่อนอยู่ในช่องเหงือกด้านบน เป็นอวัยวะที่ช่วยในการหายใจในแอ่งน้ำตื้นหรือบนบกได้ บางครั้งเราจึงพบว่าพวกมันอาศัยอยู่ตามบ่อดินได้นั่นเอง

ล้วงลึกถิ่นกำเนิดของปลาดุก ปลาท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปลาดุก

ปลาดุกเป็นสัตว์น้ำที่สามารถพบได้ทั่วไปในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงหมู่เกาะบอร์เนียว โดยสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะมีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ประกอบไปด้วยสายพันธุ์อุย สายพันธุ์ด้าน สายพันธุ์มอด สายพันธุ์ดัก และสายพันธุ์ลำพัน แต่ที่ได้รับความนิยมในการเพาะเลี้ยงสำหรับขายเนื้อจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์อุยและสายพันธุ์ด้าน 

ไขข้อสงสัย ปลาดุกแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร และทำไมจึงไม่ควรปล่อยปลาดุกลงแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลาดุก

ปลาดุกเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ เราจึงรู้จักพวกมันในฐานะของอาหารและสะพานบุญของเหล่าพุทธศาสนิกชน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่าปล่อยปลาหน้าเขียงได้บุญเยอะอย่างแน่นอน แต่ทราบหรือไม่ว่าปลาสายพันธุ์นี้มีทั้งสายพันธุ์ท้องถิ่นและสปีชีส์เอเลี่ยน

การปล่อยสัตว์ต่างถิ่นลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศขนาดใหญ่ ทำให้สัตว์ท้องถิ่นดั้งเดิมได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น การถูกแย่งอาหารหรือถูกจับกิน แทนที่จะได้บุญ กลับกลายเป็นได้บาปแทน เราจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับปลาดุกแต่ละสายพันธุ์ในประเทศไทยกันว่า สายพันธุ์ไหนที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น และสายพันธุ์ใดเป็นสายพันธุ์เอเลี่ยน ที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด

ปลาดุก

สายพันธุ์อุยหรือสายพันธุ์นา

เป็นสายพันธุ์ยอดนิยมที่คนรู้จักมากที่สุดและมักนำเอามาประกอบอาหารมากที่สุดอีกด้วย ปัจจุบันเราหาพวกมันได้ยากแล้วตามธรรมชาติ เพราะมักถูกแทนที่ด้วยปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น ลักษณะของปลาดุกสายพันธุ์อุยหรือสายพันธุ์นั้น จะมีผิวหนังสีออกค่อนข้างเหลือง มีรอยประตามเส้นด้านข้างของลำตัว แต่เมื่อโตเต็มวัยลายประเหล่านี้จะหายไป กะโหลกท้ายทอยจะป้านและมีความโค้งมนเป็นพิเศษ

สายพันธุ์ด้าน

เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่สีตามลำตัวจะคล้ำขึ้นมาเล็กน้อย บริเวณหัวจะแหลมเป็นทรงสามเหลี่ยม รูปร่างตามลำตัวจะมีความเรียวยาว กระดูกท้ายทอยแหลมยาวเป็นพิเศษ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้

สายพันธุ์บิ๊กอุย

เป็นปลาดุกสายพันธุ์เอเลี่ยนที่ทำลายระบบนิเวศและยังรุกรานปลาท้องถิ่นดั้งเดิม เกิดจากการผสมพันธุ์กันระหว่างสายพันธุ์อุยและสายพันธุ์ยักษ์จากทวีปแอฟริกา ลักษณะภายนอกของพวกมันจึงมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์อุย แต่ขนาดจะใหญ่กว่ากันมาก กระดูกท้ายทอยจะแหลมและเป็นหยัก สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและกินทุกอย่างที่ขวางหน้า 

ถึงแม้ว่าสายพันธุ์บิ๊กอุยจะเป็นหมัน แต่การที่เราปล่อยพวกมันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็นับว่าเป็นการสร้างผลกระทบในด้านลบต่อระบบนิเวศอยู่ดี ที่สำคัญคือมันยังเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากกฎหมายมาตรา 65 และมาตรา 144 พรก. ประมงปี 2558 ระบุว่า ผู้โดยฝ่าฝืนปล่อยสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment