ปลาบู่ ปลาพื้นบ้านที่ถูกสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมไทย

by animalkingdom
70 views
ปลาบู่

ปลาบู่ ปลาที่ยึดโยงกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับพวกมัน มีนิทานพื้นบ้านที่ดังจนถูกนำเอาไปสร้างละครซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าพวกมันอาจจะไม่ได้รับความนิยมในการบริโภคเทียบเท่ากับปลาสายพันธุ์อื่น แต่ก็จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เช่นกัน วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่า ปลาสายพันธุ์นี้มีความน่าสนใจอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาบู่ ปลาพื้นบ้านไทย

ปลาบู่

ปลาบู่ เป็นปลาน้ำจืดที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ทราย สายพันธุ์ทอง สายพันธุ์จาก สายพันธุ์สิงโต หรือสายพันธุ์เอื้อย พวกมันเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างสูง ได้รับความนิยมในการบริโภค สามารถทำได้หลากหลายเมนูทั้งนึ่ง ต้ม หรือแกง ถึงจะบอกว่าเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด แต่บางครั้งตามธรรมชาติก็สามารถพบเจอในพื้นที่น้ำกร่อยได้เช่นกัน

ปลาสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะลำตัวที่ดูกลมและยาว มีหัวขนาดใหญ่ที่ยาวกว่า 1 ใน 2.8 ของลำตัว ตามเกล็ดจะมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วทั้งลำตัว ขากรรไกรล่างจะยื่นยาวออกมามากกว่าขากรรไกรบน มีฟันเรียงเดี่ยวเป็นซี่เล็ก ๆ ที่มีความแหลมคม

ดวงตาของปลาบู่จะอยู่เหนือขึ้นมาจากริมฝีปากเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วตามลำตัวมักเป็นสีดำ สีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวได้สูงสุดประมาณ 30 เซนติเมตร แต่เคยมีการค้นพบปลาสายพันธุ์นี้ที่มีขนาดตัวยาวถึง 60 เซนติเมตรเช่นเดียวกัน

ปลาบู่

แหล่งกำเนิดและสถานที่อยู่อาศัย 

ปลาบู่ เป็นสัตว์น้ำที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในบริเวณที่มีน้ำจืดหรือน้ำกร่อยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงหมู่เกาะมลายู ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะสุมาตรา และหมู่เกาะบอร์เนียว

สำหรับในประเทศไทยจะสามารถพบได้ตามห้วย หนอง คลอง บึง รวมถึงอ่างเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปากน้ำโพ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน บึงบอระเพ็ด หรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิต์

บริเวณที่อยู่อาศัยของปลาบู่มักจะเป็นบริเวณที่มีพื้นเป็นดินอ่อนหรือทราย มักหลบซ่อนตัวอยู่ตามก้อนหินหรือตอไม้ รวมถึงในรากหญ้าที่มีความหนาจนปิดบังตัวพวกมันได้ ไม่ใช่เพราะพวกมันหนีจากศัตรู แต่เพราะซุ่มโจมตีเหยื่อ เนื่องจากพวกมันเป็นสัตว์นักล่าที่สามารถออกล่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ กินได้นั่นเอง

วิธีแยกเพศ 

ปลาบู่เป็นสัตว์เลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในประเทศไทย และเราจะขายพวกมันได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถแยกเพศพวกมันเป็น เพื่อให้สามารถเพาะพันธุ์ไปได้เรื่อย ๆ วิธีการแยกความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมียให้สังเกตจากอวัยวะเพศที่อยู่ไม่ไกลจากรูทวาร

ตัวผู้จะมีอวัยวะเพศลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเล็ก ๆ ทรงสามเหลี่ยมที่มีปลายแหลม ส่วนตัวเมียจะมีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดใหญ่ที่บริเวณปลายจะไม่แหลม แต่มีรู บางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ช่วงพร้อมผสมพันธุ์ อวัยวะเพศจะเปลี่ยนเป็นสีแดงจนเห็นเส้นเลือดฝอยได้เลยทีเดียว

เทคนิคการดูแลปลาบู่ให้มีรายได้

ปลาบู่

ต้องยอมรับว่า ปลาบู่ ได้รับความนิยมในการทำปศุสัตว์อยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้ว่าในประเทศไทยอาจจะไม่ได้รับความนิยมในการบริโภคมากนัก แต่พวกมันมีตลาดรองรับทั่วโลก สามารถขายส่งออกและทำกำไรให้กับเกษตรกรได้อย่างงดงาม สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจเลี้ยงพวกมันมีดังนี้

การเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และการฉีดฮอร์โมน

พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรอยู่ในวัยพร้อมผสมพันธุ์ มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 300 กรัมขึ้นไป แต่ก็ต้องไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไปเช่นกัน มีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีพยาธิหรือเชื้อราตามตัว ไม่มีบาดแผล บ่อเลี้ยงควรมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ประมาณ 800 ตารางเมตรต่อปลา 150 ตัว สามารถปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติหรือจะฉีดฮอร์โมนก็ได้เช่นกัน

วิธีการฉีดฮอร์โมนคือ ให้นำเอาปลาบู่ตัวผู้ที่มีน้ำหนักประมาณ 170 กรัมและตัวเมียน้ำหนักประมาณ 202 กรัม มาฉีดฮอร์โมนเข้าไปเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็นำเอาพวกมันไปปล่อยลงในบ่อ มีทางมะพร้าวในบ่อให้พวกมันใช้วางไข่ ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 10,000 ฟองต่อตัว มีอัตราการฟักอยู่ที่ 90%

ปลาบู่

การดูแลลูกปลา

การเลี้ยงปลาปลาบู่หลังจากที่ฟักออกมาจากไข่ ช่วงแรกจะยังกินอาหารจากถุงไข่แดงของตัวเองจนหมด หลังจากนั้นก็ให้ไรแดงหรือโรติเฟอร์เป็นอาหาร ให้คุณผสมระหว่างไข่แดงและไข่ขาวจนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นใส่น้ำร้อนลงไปขณะที่กำลังตีไข่อัตราส่วน 150 cc ต่อไข่ 1 ฟอง เสร็จแล้วกรองด้วยผ้า จากนั้นนำเอาไปผสมกับอาหารที่คุณมีแล้วให้เช้า กลางวัน เย็น 3 มื้อ

วิธีเลี้ยงและการดูแลปลา

  • สถานที่ ปลาบู่เป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและกระชัง หากเลี้ยงในบ่อดินส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงรวมกับปลาสายพันธุ์อื่น อย่างปลาช่อนหรือปลานิล เพื่อช่วยควบคุมจำนวนประชากร เวลาให้อาหารก็ให้ปั้นเป็นก้อน ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 8 เดือนถึง 12 เดือนถึงจะเริ่มขายได้
  • ประเภทกระชังและขนาด หากเลี้ยงในกระชังต้องคัดเลือกสถานที่บริเวณที่น้ำไม่ขุ่น น้ำไหลแรง มีปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต สามารถเลือกใช้ได้ทั้งกระชังไม้ไผ่ต้นทุนต่ำ กระชังไม้ไผ่แต่ใช้โครงไม้จริง หรือกระชังจากไม้จริงสำหรับคนที่พอมีทุนอยู่บ้าง ขนาดเริ่มต้นตั้งแต่ 2 x 3 เมตรขึ้นไป จนถึง 2.5 x 8 เมตร แล้วแต่เงินทุน
  • อัตราส่วนปลาในบ่อ ใน 1 บ่อควรมีปริมาณปลาที่ไม่แออัดจนเกินไป ปริมาณที่กำลังดีคือปลาประมาณ 100 ตัวต่อตารางเมตร แต่หากคุณเลี้ยงในกระชังควรมีปริมาณเพียง 50 ตัวต่อตารางเมตรเท่านั้น
  • อาหารและวิธีให้อาหาร ปลาบู่เป็นสัตว์กินเนื้อ เพราะฉะนั้นอาหารของพวกมันจึงควรอุดมไปด้วยโปรตีนประมาณ 40% ไขมัน 8% คาร์โบไฮเดรต 12% วิตามินและแร่ธาตุอีก 1% จะใช้อาหารพื้นบ้านธรรมดาทั่วไปที่หาได้ หรือจะใช้อาหารสำเร็จก็ได้เช่นกัน แต่ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและถูกสุขลักษณะ
  • การจัดการและการดูแล การเลี้ยงในกระชังจำเป็นจะต้องทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ จัดขนาดของกระชังให้ใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันการแย่งอาหารของปลาหรือการกัดกันเอง จะช่วยให้พวกมันเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment