ปลาสลิด ปลารสชาติอร่อย ขวัญใจโต๊ะอาหารในประเทศไทย 

by animalkingdom
114 views
ปลาสลิด

ตามท้องตลาดมีปลาอยู่ชนิดหนึ่งที่เวลาขาย เรามักจะไม่เห็นหัวปลา เมื่อกล่าวมาเช่นนี้ หลายคนคงจะร้องอ๋อ! และรู้ได้ทันทีว่าคือ ปลาสลิด ปลาน้ำจืดขนาดกลางที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด นิยมขายในรูปแบบตากแห้ง ส่วนใหญ่มักนำไปทอดรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือทำเป็นน้ำพริกก็อร่อยไปอีกแบบ ถือได้ว่าเป็นปลาอีกหนึ่งชนิดที่ผู้คนนิยมรับประทานเป็นอย่างมากในประเทศไทย วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับปลาสายพันธุ์นี้ในฐานะของสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง พวกมันจะมีลักษณะเป็นอย่างไร จะมีความน่าสนใจแค่ไหน ไปติดตามพร้อมกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับปลาสลิด ปลาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ปลาสลิด

ปลาสลิด ปลาน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์ปลากัดและปลากระดี่ เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยไม่น้อยเลยทีเดียวว่าทำไม เพราะปกติแล้วเวลาเห็นพวกมันถูกวางขายในตลาดก็มักจะเป็นปลาที่มีหนังสีเทา ไม่เห็นเหมือนปลากัดที่มีสีสันสวยงาม แต่ความจริงแล้วพวกมันจัดว่ามีสีสันที่น่าสนใจไม่แพ้ปลาสายพันธุ์เช่นกัน 

ลักษณะของปลาสลิดจะมีความคล้ายคลึงกับปลากระดี่หม้อ ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน เพียงแต่ขนาดลำตัวจะยาวและหนากว่า มีหัวขนาดใหญ่ ครีบหลังจะยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้นในตัวผู้ มีครีบอกขนาดใหญ่ ดวงตากลมโต แต่ปากเป็นจะงอยสามเหลี่ยมขนาดเล็ก

ตามลำตัวมักเป็นสีน้ำตาลคล้ำหรือสีเขียวมะกอก มีแถบตามลำตัวคล้ายกับลวดลายของม้าลายเป็นสีเหลืองอ่อน ตามครีบทุกส่วนมักเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ทำให้ปลาสลิดได้รับความนิยมในการเลี้ยงในฐานะปลาสวยงามด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไปเมื่อปลาสลิดโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 16 เซนติเมตร แต่ก็เคยมีการค้นพบตัวที่มีขนาดใหญ่กว่า 25 เซนติเมตรด้วยเช่นกัน แต่เป็นการค้นพบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ หากเพาะเลี้ยงในฟาร์มส่วนใหญ่ก็จะมีขนาดมาตรฐานตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป 

สามารถพบได้ทั่วไปตามบริเวณแหล่งน้ำนิ่ง ที่มีหญ้ารกหรือพืชน้ำตามตลิ่งทั้งในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งยังสามารถพบได้ในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

พฤติกรรมและการขยายพันธุ์

ปลาสลิด

ปลาสลิด เป็นปลาอยู่ง่ายกินง่ายและสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจหากพวกมันจะเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการทำปศุสัตว์ พวกมันจัดเป็นสัตว์กินเนื้อที่สามารถกินได้ทั้งแพลงก์ตอนขนาดเล็ก แพลงก์ตอนพืช และไรแดง ส่วนการผสมพันธุ์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงกลางฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม

วิธีการวางไข่จะเริ่มจากการที่พวกมันก่อหวอดบริเวณผิวน้ำเพื่อให้ไปติดกับพืชหรือวัสดุต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง จากนั้นตัวเมียก็จะวางไข่ในช่วงกลางวันที่แสงแดดรำไร เมื่อวางไข่เสร็จตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่จนกว่าจะฟัก ครั้งหนึ่งสามารถวางไข่ได้ตั้งแต่ 4,000 ฟองขึ้นไป และวางได้สูงสุดกว่า 10,000 ฟองต่อครั้ง

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาสลิด สัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้

ปลาสลิด

ใครที่สนใจอยากทำฟาร์มปลาสลิดและกำลังศึกษาวิธีการเลี้ยงปลาอยู่ ความจริงแล้วปลาสายพันธุ์นี้ไม่ได้เลี้ยงยากอะไร และยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญในประเทศไทย นิยมใช้ในการทำปลาเค็มหรือปลาแห้ง แปรรูปเพื่อให้สามารถเก็บได้ยาวนานขึ้น สำหรับใครที่สนใจอยากสร้างรายได้จากปลาสายนี้ เราจะพาทุกคนไปดูกันว่ามีอะไรที่คุณควรต้องรู้เอาไว้

การเพาะเลี้ยง

ปลาสลิดเป็นปลาที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ 2 วิธี ประกอบไปด้วย การปล่อยผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ด้วยการนำเอาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไปปล่อยให้อยู่ในบ่อเดียวกัน โดยจะใช้ปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่เกิน 10 ตัวต่อพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ไม่จำเป็นต้องแยกอัตราส่วนระหว่างพ่อพันธุ์กับแม่พันธุ์ หรือหากใครอยากได้จำนวนลูกเยอะ ๆ จะใส่พ่อพันธุ์น้อยกว่าแม่พันธุ์ก็ได้เหมือนกัน

ส่วนวิธีการที่ 2 คือ การฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ เริ่มต้นจากการรวบรวมปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาสลิดที่ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรค ตามตัวไม่มีบาดแผลมานับจำนวนตัวและชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณฮอร์โมน ให้ทิ้งเวลาไว้ประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะสามารถฉีดได้ ให้ฉีดเข้าไปบริเวณโคนครีบหลังของตัวปลา จากนั้นก็ปล่อยให้พวกมันผสมพันธุ์และวางไข่กันเองใน 24 ชั่วโมง

ปลาสลิด

รูปแบบการเลี้ยง

ปลาสลิดสามารถเลี้ยงได้ในบ่อเลี้ยงธรรมดา เริ่มต้นจากการขุดบ่อแล้วตากทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เดือน ปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารให้กับปลา โดยหญ้าที่นิยมจะประกอบไปด้วยหญ้าแตง หญ้าน้ำผึ้ง ต้นแห้ว ต้นกก จากนั้นจึงเติมน้ำในบ่อให้สูงขึ้นจากพื้นบ่อไม่เกิน 70 เซนติเมตร แล้วทำการปล่อยลูกปลาลงไปในบ่อช่วงเช้าที่อากาศไม่ร้อนจัด อัตราส่วนประมาณไร่ละ 4,000 ตัว

การให้อาหาร หากเลี้ยงแบบธรรมชาติสามารถให้หญ้าสับทุก ๆ 15 วันได้ หากให้อาหารสำเร็จรูปก็ให้เลือกอาหารเม็ดแบบจมน้ำ มีอัตราส่วนโปรตีน 25% 2 เวลาเช้าและบ่าย ระหว่างเลี้ยงก็ต้องสังเกตสีของน้ำอยู่เป็นประจำ หากน้ำใสเกินไปหมายความว่า อาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ เราอาจต้องให้หญ้าเพิ่ม

จากนั้นก็รอเวลาประมาณ 8 เดือน ไปจนถึง 12 เดือน ปลาสลิดจะเริ่มมีน้ำหนักที่พอดีสำหรับการขาย นั่นก็คือประมาณ 4-5 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม จากนั้นเราก็สามารถจับพวกมันเอาไปขายได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment