ปลาโรนิน เจ้าของฉายากระเบนผืนน้ำผู้มากับรูปลักษณ์แปลกประหลาด

by animalkingdom
209 views
ปลาโรนิน

บนโลกใบนี้เต็มไปด้วยสัตว์ที่หน้าตาดูแปลกประหลาดเต็มไปหมด โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล อย่าง ปลาโรนิน พวกเขามีรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาดเป็นอย่างมาก แบบที่ใครได้เห็นจะต้องสงสัยอย่างแน่นอนว่า พวกเขาคือตัวอะไรกันแน่ พวกเขาเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจแถมยังมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องรางของขลังอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขาให้มากขึ้นกัน 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

เปิดลักษณะของปลาโรนิน กระเบนผืนน้ำที่ผสมผสานกันระหว่างกระเบนและฉลาม 

ปลาโรนิน

ปลาโรนิน จัดเป็นปลากระดูกอ่อนที่ลักษณะหน้าตาภายนอกดูแปลกประหลาดเสียเหลือเกิน นั่นก็เป็นเพราะว่า พวกเขามีรูปลักษณ์ผสมผสานกันระหว่างปลากระเบนและฉลาม พวกเขามีหัวขนาดใหญ่ที่กลมและแบน มีความโค้งมนแผ่ออกไปด้านข้าง คล้ายกับรูปร่างของปลากระเบน จนมีชื่อเล่นว่ากระเบนผืนน้ำ 

ปากเป็นทรงกลมเหมือนกับหัว มีลำตัวเป็นปลาคล้ายกับฉลาม มีครีบบนด้านหลังตั้งสูงขึ้นมา 2 อัน เหนือดวงตาบริเวณหัวจะมีสันลักษณะคล้ายหนามยื่นออกมาจากกะโหลก ด้านล่างของลำตัวยังมีครีบเล็กอีก 2 ครีบ ส่วนปลายหางเป็นแฉกเหมือนกับฉลามอย่างไม่มีผิดเพี้ยน 

พื้นผิวลำตัวด้านบนจะเป็นสีน้ำตาลอมเทา มีลายแต้มจุดสีขาวจาง ๆ กระจายอยู่รอบลำตัว ส่วนบริเวณท้องจะเป็นสีขาว ในตอนที่ยังเป็นเด็กจุดแต้มสีขาวจะสามารถเห็นได้อย่างเด่นชัด แต่เมื่อโตขึ้นลายแต้มของก็จะอ่อนลงและมีน้อยลง เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักได้กว่า 135 กรัมและความยาวได้ถึง 3 เมตร 

ปลาโรนิน

พื้นที่อยู่อาศัยของปลาโรนินมีตั้งแต่พื้นที่ดินทรายปนโคลนในท้องทะเล นับเป็นสัตว์ที่หาได้ยากเป็นอย่างมาก จะพบได้เฉพาะในปาปัวนิวกินี ทะเลแดง ทะเลในแถบแอฟริกาตะวันออก และในน่านน้ำฝั่งอันดามันของประเทศไทยเท่านั้น 

ในปัจจุบันพวกเขาจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วโลกจึงนิยมเพาะพันธุ์พวกเขาเอาไว้ อย่างในประเทศไทยเองก็มีพวกเขาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Under Water World ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี และพิพิธภัณฑ์ Sea Life Bangkok Ocean World ที่ตั้งอยู่ในห้างหรูอย่างสยามพารากอน 

ราคาซื้อขายของพวกเขาสูงนับล้านบาทเลยทีเดียวเนื่องจากหาได้ยาก นอกจากนี้พวกเขายังมีความเชื่องกับคนที่เลี้ยงอีกด้วย พฤติกรรมการกินก็กินเก่งเป็นอย่างมาก สำหรับจำนวนประชากรปลาโรนินตามธรรมชาติในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง 

อย่างเช่นในปี 2558 ที่ผ่านมาบริเวณแม่น้ำกระแส ของอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบปลาเพศเมียสายพันธุ์นี้โดยลำตัวมีความยาวถึง 2 เมตร และน้ำหนักตัวประมาณ 40 กิโลกรัม แต่สภาพของเขานั้นเต็มไปด้วยบาดแผลตลอดทั้งตัวเพราะไปติดกับอวนประมง 

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทย จึงได้นำเอาเขามาพักฟื้นเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง 

ปลาโรนิน แฝดพี่แฝดน้องของปลาโรนันที่มักก่อให้เกิดความสับสน 

ปลาโรนิน

ปลาโรนิน เป็นสัตว์ทะเลที่มีฝาแฝดกับเขาด้วยเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ “ปลาโรนัน” ลักษณะของพวกเขาใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก ทำให้มักจะถูกเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความสับสนอยู่เสมอ หากสังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอก ความจริงแล้วพวกเขาแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีวิธีการสังเกตและแยกพวกเขาออกจากกันอยู่เช่นเดียวกัน ปลาโรนันจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับฉลามมากกว่า ปากของพวกเขาจะเป็นทรงสามเหลี่ยมยื่นยาวออกมาจากส่วนหัว มีครีบเป็นทรงกลมบริเวณด้านบน ตั้งแต่ริมฝีปากล่างจรดยาวไปจนถึงครีบข้างตัว ในขณะที่ปลาโรนินนั้นส่วนหัวและครีบข้างตัวจะรวมกันเป็นทรงกลมหนึ่งเดียว 

ปลาโรนันจะมีผิวเป็นสีเทาอมดำตลอดทั้งตัวและไม่มีแต้มจุดแต่อย่างใด ไม่มีสันเป็นหนามบริเวณกลางหัว ดังนั้นหากเราเห็นพวกเขาแวบไปแวบมามันก็ไม่น่าแปลกใจ หากคุณจะแยกพวกเขาไม่ออก แต่หากพิจารณาดูให้ดี พวกเขาก็ยังพอมีความแตกต่างกันให้เห็นได้อยู่บ้าง 

ปลาโรนิน จากสัตว์สู่การเป็นเครื่องรางของขลังที่ทำให้พวกเขาเกือบสูญพันธุ์ 

ปลาโรนิน

สาเหตุที่ทำให้ปลาโรนินกลายเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ เริ่มต้นมาจากชาวประมงที่ว่ากันว่า สันหนามบนหัวของพวกเขาที่ยาวไปจนถึงหลังนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องรางของขลังและมีฤทธิ์ทางไสยศาสตร์ ผู้คนที่จับพวกเขาได้จึงมักจะนำเอาชิ้นส่วนของพวกเขามาทำเป็นแหวนหรือจี้ห้อยคอ เพื่อเสริมดวงให้กับตนเอง 

นอกจากนี้ยังมีราคาซื้อขายที่ไม่ได้แพงแต่อย่างใด แม้ว่าจะหาได้ยากก็ตาม มันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จำนวนประชากรพวกเขาลดน้อยถอยลงไปจนน่าใจหาย จนตอนนี้พวกเขาได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีมาตรการอะไรที่มาคอยดูแลและช่วยปกป้องสายพันธุ์พวกเขาเอาไว้

ปลาโรนิน

สำหรับใครที่มีชิ้นส่วนของปลาโรนินในครอบครองก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะทางกรมประมงได้ออกมาชี้แจงว่า เครื่องประดับหรือชิ้นส่วนของพวกเขาที่ถูกทำมาจากหนามบนหัวหรือชิ้นส่วนอื่น ผู้ครอบครองต้องแจ้งตามกฎหมายว่ามีชิ้นส่วนในครอบครอง หากไม่มีการแจ้งไว้ก็จะเข้าข่ายการกระทำความผิด ข้อหามีไว้ซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับสูงถึง 40,000 บาทเลยทีเดียว 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment