นกยูง : ความงามแห่งป่าที่สื่อถึงโชคลาภและความเชื่อ

by animalkingdom
581 views
นกยูง

นกยูง เป็นนกที่โดดเด่นด้วยความงดงามและความสง่างามที่ไม่เหมือนใคร ด้วยขนาดใหญ่และหางที่สามารถรำแพนออกมาเป็นพัดได้ ทำให้พวกมันเป็นนกที่มีเสน่ห์และเป็นที่นิยมในสายตาของผู้คนทั่วโลก แต่ความงามนี้ยังซ่อนเรื่องราวและความน่าสนใจอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่มาของการเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ หรือการดำรงชีวิตในธรรมชาติ วันนี้เราจะพาคุณไปสำรวจและทำความรู้จักกับนกยูงให้มากขึ้นจากหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับนกยูง นกที่มาพร้อมกับหางอันงดงาม

นกยูง

นกยูง สัตว์ปีกที่จัดอยู่ในกลุ่มไก่ฟ้าซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่มากที่สุดในกลุ่มเดียวกัน ลักษณะของพวกมันคือจะเป็นนกที่มีขาสั้น ลำตัวอ้วนป้อมขนาดใหญ่ ลำคอเรียวยาวระหง มีศีรษะขนาดเล็ก ใบหน้าดูสวยงาม บางสายพันธุ์มีหงอนขึ้นมาด้านบน จะงอยปากขนาดเล็กงุ้มลงเล็กน้อย

ตัวผู้จะมีหางขนาดใหญ่สีสันสวยงามที่สามารถแผ่ขยายออกมาเพื่อใช้จีบตัวเมียได้ นอกจากนี้ยังเป็นเพศที่มีขนตามลำตัวมีสีสันสวยงามอีกด้วย ในขณะที่ตัวเมียนอกจากจะไม่มีหางขนาดใหญ่แล้ว ยังมักจะมีขนเป็นสีน้ำตาลอมเทา

บริเวณที่อยู่อาศัยของนกยูงมักเป็นป่าผลัดใบผสมหรือป่าดิบแล้งที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ พวกมันจะร้องเสียงดังในตอนเช้าและช่วงพลบค่ำ อาหารที่กินจะมีทั้งเมล็ดพืชขนาดเล็กรวมถึงแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ ด้วย 

สามารถพบเจอได้ทั่วไปตั้งแต่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ทางตะวันออกของประเทศเมียนมาร์ ทางตอนใต้ของประเทศจีน ไปจนถึงประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ชวา และมาเลเซีย ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 3 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย 

  • สายพันธุ์ไทย ทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างมีขนเป็นสีเขียวเข้ม มีหงอนเป็นพู่ตั้งตรง คอยืดยาวระหง บริเวณแก้มเป็นสีเหลือง ปีกเป็นสีน้ำเงินอมเขียว สามารถกินได้ทั้งผลไม้สุก เมล็ดพืช รวมถึงสัตว์ตัวเล็ก ๆ และแมลง
  • สายพันธุ์อินเดีย ตัวผู้จะมีสีน้ำเงินสด ส่วนตัวเมียจะเป็นสีน้ำตาลและมีแก้มสีขาว หงอนจะมีลักษณะเป็นใบพัดตั้งขึ้น บริเวณปลายหงอนจะมีขนเป็นพู่ ขนาดตัวจะเล็กกว่าสายพันธุ์ไทยเล็กน้อย บริเวณปีกจะมีขนสีขาวสลับดำ สามารถกินได้ทั้งเมล็ดพืช ผักผลไม้ และสัตว์เลื้อยคลานบางสายพันธุ์
  • สายพันธุ์คองโก เป็นสายพันธุ์ที่มีหงอนสีขาวสั้น ๆ ตัวผู้บริเวณท้องเป็นสีน้ำเงินดำ ส่วนตัวเมียบริเวณท้องจะเป็นสีน้ำตาลแดง พวกมันสามารถกินได้ทั้งผัก ผลไม้ เมล็ดพืช สัตว์ตัวเล็ก ๆ นับเป็นสายพันธุ์ที่หายาก เพราะกระจายตัวอาศัยอยู่บริเวณป่าฝนในเขตลุ่มน้ำคองโก ทางตอนกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเท่านั้น

รู้หรือไม่ นกยูงมีพันธุ์ผสมด้วย

นกยูง

นกยูงหรือนกสายพันธุ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนกใหญ่หรือนกตัวเล็ก ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ที่คงไม่มีใครนึกถึงว่า จะมีการผสมแบบข้ามสายพันธุ์ด้วย แต่พวกมันมีการผสมข้ามสายพันธุ์กันจริง ๆ นั่นก็คือ การผสมระหว่างสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์อินเดีย ออกมาเป็นนกที่มีขนตามร่างกายสีน้ำเงินสำหรับตัวผู้ และขนสีน้ำตาลสำหรับตัวเมีย 

ลักษณะภายนอกส่วนใหญ่จะได้มาจากสายพันธุ์อินเดีย ส่วนหงอนบนหัวที่มีลักษณะตั้งตรง เป็นลักษณะของสายพันธุ์ไทย ส่วนบริเวณปลายหงอนจะมีขนเป็นผู้ที่ได้รับมาจากสายพันธุ์อินเดีย

อย่างไรก็ตาม การผสมพันธุ์กันของนกสองสายพันธุ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม โดยที่ไม่ได้เกิดจากการคัดสรรจากธรรมชาติ มนุษย์เป็นผู้จับนกทั้ง 2 สายพันธุ์มาผสมพันธุ์กัน ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลเสียอีกด้วย เพราะหากยังคงมีการนำเอานกสองสายพันธุ์มาผสมกันต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วในป่าตามธรรมชาติของประเทศไทย อาจไม่เหลือพันธุกรรมของนกสายพันธุ์ไทยอีกต่อไป

จากความงามสู่อารยธรรม เมื่อนกยูงปรากฏอยู่ในวัตถุโบราณ

นกยูง

นกยูงเป็นนกสวยงามที่มีความผูกพันกับความเชื่อของมนุษย์มาอย่างยาวนาน เราสามารถพบเจอหลักฐานการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมของหลายวัฒนธรรมในแถบเอเชียอาคเนย์มาอย่างยาวนาน สำหรับในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ยุคทวารวดี โดยเราได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีการค้นพบปูนปั้นรูปนกสายพันธุ์ดังกล่าวอยู่บนเจดีย์ในจังหวัดนครสวรรค์

ต่อมาในยุคสุโขทัยก็มีการเขียนลายรูปนกยูงบนเครื่องสังคโลก เพื่อความสวยงามและสื่อความหมายในด้านบวก พวกมันได้รับการยกย่องให้เป็นนกศักดิ์สิทธิ์และมีความเป็นสิริมงคล ในศาสนาฮินดูยังเชื่อว่า พวกมันเป็นบริวารของเทพเจ้าหลายพระองค์อีกด้วย

มนุษย์ ภัยคุกคามนกยูงและสถานการณ์การอนุรักษ์

นกยูง

นกยูงอาจเป็นนกที่เราคุ้นชิน เนื่องจากเห็นตามสวนสัตว์อยู่บ่อยครั้ง แต่ในฐานะของสัตว์ป่า พวกมันมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะผลกระทบที่พวกมันได้รับมากที่สุดคือ การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยจากการบุกรุกของมนุษย์ ยังไม่รวมไปถึงการล่า การดักจับลูกนกเพื่อเอามาเลี้ยง

แต่สำหรับประเทศไทย ภัยคุกคามที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การผสมข้ามสายพันธุ์จนทำให้พันธุกรรมของนกสายพันธุ์ไทยหายไปตามกาลเวลา ทั้งที่อดีตนกสองสายพันธุ์นี้ไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ทับซ้อนกัน แต่เนื่องจากสายพันธุ์อินเดียได้หลุดเข้ามาในป่าธรรมชาติของประเทศไทย

ทำให้เกิดลูกผสมซึ่งอาจจะส่งผลต่อพันธุกรรมนกสายพันธุ์ไทยต่อไปในอนาคตได้ หากเราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จากนี้จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศให้มากขึ้น รวมถึงการดูแลและจัดการการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับมนุษย์ด้วย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment