กระทิง ยักษ์ใหญ่ผู้เงียบงันแห่งผืนป่าไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

by animalkingdom
323 views
กระทิง

หากพูดถึงยักษ์ใหญ่แห่งผืนป่า หลายคนคงนึกถึง ช้าง แต่ยักษ์ใหญ่ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้คือ กระทิง สัตว์ขนาดใหญ่ที่ถึงแม้ว่าจะกินพืชเป็นอาหาร แต่ก็มาพร้อมกับความน่าเกรงขามไม่แพ้ใคร ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยนำเอาพวกมันมาแข่งขันเป็นกีฬาเพื่อทดสอบความแข็งแกร่งของตนเองด้วยซ้ำไป 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทำความรู้จักกับกระทิง วัวป่าผู้สง่างาม สัญลักษณ์แห่งพลัง

กระทิง

กระทิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์เท้ากีบ พวกมันมีรูปร่างที่ใหญ่โตและดูล่ำสัน มีขนสั้น ๆ เกรียน ๆ ปกคลุมตลอดทั้งลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ บริเวณขาทั้ง 4 ข้างของพวกมันจะมีขนสีขาวลักษณะคล้ายกับกำลังใส่ถุงเท้าอยู่ ส่วน

ด้านบนของศีรษะมักจะมีสีน้ำตาลอ่อนกว่าส่วนอื่น เขาของพวกมันก็มีหลายสีสัน โดยบริเวณที่อยู่ใกล้กับส่วนหัวจะเป็นสีขาว ไล่ระดับขึ้นไปจนถึงปลายเขาที่เป็นสีดำ ความยาววัดตั้งแต่หัวไปจนถึงสุดลำตัวจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 เมตรขึ้นไป หรือบางทีก็อาจพบตัวที่มีขนาดยาวกว่า 3.3 เมตร ก็ได้เช่นกัน หางสามารถยาวได้มากกว่า 1 เมตร ส่วนความสูงเริ่มต้นที่ 165 เซนติเมตร ไปจนถึง 220 เซนติเมตร

กระทิงเป็นสัตว์ที่มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวผู้จะมีขนาดตัวใหญ่กว่า และมีน้ำหนักมากกว่าตัวเมียถึง 25% ลักษณะที่โดดเด่นของพวกมันก็คือ บริเวณหลังคอจะมีโหนกสูงลักษณะคล้ายโหนกของอูฐ เนื่องจากกระดูกสันหลังของพวกมันยื่นยาวออกมา 

เราสามารถพบพวกมันได้ทั่วไปในแถบทวีปเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในศรีลังกา ปัจจุบัน เรายังคงสามารถเจอกระทิงตามธรรมชาติได้ทั้งในประเทศจีน ภูฏาน กัมพูชา พม่า ลาว ไทย อินเดีย มาเลเซีย เนปาล และเวียดนาม 

ในอดีตพวกมันถูกแบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ย่อย โดยมีสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในอินเดีย เนปาล และภูฏาน สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจีนตอนใต้ พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และทางตอนเหนือของประเทศไทย ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ในประเทศไทยไปจนถึงมาเลเซีย วิธีการแบ่งสายพันธุ์กระทิงจะใช้สีสันและขนาดตัว ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมแบ่งสายพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว

นอกจากจะมีสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสายพันธุ์บ้านที่สืบทอดเชื้อสายมาจากสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าอีกด้วย แต่ทาง IUCN นับว่าเป็นสัตว์คนละชนิดกัน นิยมเลี้ยงในประเทศพม่า จีน และอินเดีย ทำให้ถึงแม้ว่าสายพันธุ์บ้านจะมีการเพาะเลี้ยง แต่ก็ไม่นับว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าวางใจสำหรับสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่าในแง่ของจำนวนประชากร

พฤติกรรมและความเป็นอยู่ของกระทิง

กระทิง

กระทิงเป็นสัตว์กินพืชที่มักอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าในป่า ชอบหากินบริเวณที่ราบลุ่ม แต่บางกลุ่มก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงระดับ 2,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล พวกมันจะจับกลุ่มอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยในหนึ่งฝูงจะมีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 8 ตัวไปจนถึง 40 ตัว มีพื้นที่ออกหากินถึง 78 ตารางกิโลเมตร 

ใน 1 ฝูงจะมีตัวผู้ที่โตเต็มวัยเพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้น ส่วนสมาชิกที่เหลือจะเป็นตัวเมียและบรรดาเหล่าวัยรุ่นทั้งหลาย เมื่อตัวผู้เติบโตขึ้นจนโตเต็มวัย พวกมันก็จะแยกออกไปตั้งฝูงเป็นของตัวเอง หรือบางตัวก็อาจจะแยกไปอาศัยอยู่ตามลำพัง

พฤติกรรมที่น่าสนใจของกระทิงก็คือ การร้องเตือนภัยด้วยการพ่นเสียงดัง “ฟึดฟัด” หรือการส่งเสียง “มอ” คล้ายกับวัว ตัวผู้จะสามารถส่งเสียงได้ดังกว่าและหลากหลายกว่าตัวเมีย สามารถใช้สื่อสารให้ฝูงหยุด มารวมตัวกัน หรือร้องอยู่อย่างนั้นยาวเป็นชั่วโมงในช่วงฤดูผสมพันธุ์ได้เลยทีเดียว

กระทิง

โดยปกติแล้วกระทิงมักจะหากินในตอนเช้า แทะเล็มใบไม้และหญ้าเป็นอาหารหลัก แต่ที่พวกมันชอบมากที่สุดก็คือ หญ้าอ่อน พอตกบ่ายก็จะแยกกันไปพักผ่อน บ้างก็นั่ง บ้างก็นอน เคี้ยวเอื้องอย่างสบายใจ พอถึงตอนเย็นก็จะออกหากินอีกครั้งจะถึงช่วงพลบค่ำ จนกระทั่งเข้าสู่ตอนกลางคืนก็จะพากันเดินทางเข้าไปในป่าทึบเพื่อพักผ่อนนอนหลับ

แต่ถึงอย่างนั้น บริเวณป่าที่มีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจนมีพฤติกรรมรบกวนสัตว์ป่า พวกมันก็มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาออกหากินในตอนกลางคืนได้เช่นกัน เนื่องจากพวกมันค่อนข้างขี้อายและไม่ชอบมนุษย์สักเท่าไหร่ 

เคยมีรายงานว่ามนุษย์ที่เข้าใกล้กระทิงมากเกินไป อาจถูกทำร้ายจนถึงชีวิตได้เลยทีเดียว ส่วนศัตรูตามธรรมชาติของพวกมันจะประกอบไปด้วยมนุษย์และเสือโคร่ง แต่สำหรับในประเทศไทย ไม่เคยมีรายงานปรากฏว่าเสือโคร่งออกล่าพวกมันเลยแม้แต่ครั้งเดียว

กระทิงสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และสามารถคลอดลูกได้ทุก ๆ 1 ปีถึง 15 เดือน ระยะเวลาการเป็นสัดจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์ ใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 280 วัน เมื่อตัวเมียใกล้คลอดก็จะปลีกตัวออกมาตามลำพังและออกลูกครั้งละ 1 ตัว

แรกเกิดลูกกระทิงจะมีน้ำหนักเพียงแค่ 23 กิโลกรัมเท่านั้น แม่จะเลี้ยงดูลูกเป็นระยะเวลาร่วม 9 เดือนก่อนที่เด็ก ๆ จะเริ่มเติบโตเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย แต่สำหรับตัวเมียจะต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

อัพเดทสถานการณ์ของกระทิง มรดกล้ำค่าของไทย สู่ความยั่งยืนของอนาคต

กระทิง

กระทิงอาจดูเป็นสัตว์ดุร้าย แต่ความจริงแล้วสถานการณ์ของพวกมันค่อนข้างน่ากังวลเลยทีเดียว มีการคาดการณ์ว่าในปัจจุบันเหลืออยู่ไม่เกิน 30,000 ตัวทั่วโลก ประชากรพวกมันลดลงอย่างน่าใจหายจากการสูญเสียสถานที่อยู่อาศัยและการล่าสัตว์เถื่อน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการติดโรคจากสัตว์ที่ชาวบ้านทำปศุสัตว์อีกด้วย

ในประเทศภูฏานยังคงสามารถพบพวกมันได้ตามเทือกเขาทางตอนใต้ คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรยังคงทรงตัว แต่น่าเสียดายที่ในบังกลาเทศคาดการณ์ว่าไม่มีกระทิงหลงเหลืออยู่แล้ว ส่วนในประเทศจีนก็ยังคงพบได้ทั้งในยูนนานและทิเบต ส่วนประเทศอินเดียก็มีอยู่นับหมื่นตัวเลยทีเดียว จำนวนประชากรในเขตอนุรักษ์ก็ถือว่ายังทรงตัว ในประเทศลาวมีจำนวนมากก็จริง แต่ความหนาแน่นต่ำเพราะอาศัยกันอย่างกระจัดกระจาย ในมาเลเซียก็คาดการณ์ว่าเหลือเพียงแค่ 500 ตัวเท่านั้น

สำหรับในพม่าการประเมินสถานการณ์ทำได้ยาก แต่คาดว่ายังเหลืออยู่ไม่เกิน 200 ตัว เช่นเดียวกับในกัมพูชาที่จำนวนประชากรลดลงไปอย่างน่าใจหาย ส่วนประเทศไทยของเราคาดว่าจะยังเหลือกระทิงอยู่ประมาณ 900 ตัว บริเวณเขตอนุรักษ์มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 100 ตัว ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 ของ IUCN ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันอนุรักษ์พวกมันเอาไว้ให้ยังคงอยู่ตามธรรมชาติได้ต่อไป

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของบรรดาสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment