เสือโคร่ง หรือ เสือลายพาดกลอน

by animalkingdom
505 views
เสือโคร่ง

สวัสดีค่ะ วันนี้ Animal kingdom จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง “เสือโคร่ง” โดยครั้งหนึ่งพวกมันเคยอาศัยอยู่อย่างแน่นหนา ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของทวีปเอเชียไปจนถึงทางตะวันออกแม่น้ำอามูร์ในประเทศรัสเซีย แต่ในปัจจุบันถิ่นที่อยู่ถูกคุกคามจนทำให้จำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดนี้เริ่มลดลงเรื่อย ๆ และมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้เช่นกันค่ะ สัตว์ป่าชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไร ตาม Animal kingdom ไปทำความรู้จักกับสัตว์ป่าชนิดนี้กันได้เลยค่ะ

ข้อมูลทั่วไปของเสือโคร่ง

สัตว์ป่าชนิดนี้เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่มีเสน่ห์ดึงดูดน่าหลงใหล และเป็นสัตว์ป่าที่คนรู้จักมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลต่อตำนานและนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ ของหลาย ๆ วัฒนธรรม โดยสัตว์ป่าชนิดนี้ถูกระบุอยู่ในบัญชีสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์บัญชีแดงของไอยูซีเอ็น ในปี ค.ศ.2015 มีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกมีประชากรของสัตว์ป่าชนิดนี้อยู่เพียง 3,062-3,948 ตัวเท่านั้น และสามารถพบได้มากที่สุดในประเทศอินเดีย

เสือโคร่ง

ลักษณะทางกายภาพ 

พวกมันมีความยาวเฉลี่ยตั้งแต่หัวไปถึงโคนหางประมาณ 1.4-2.8 เมตร ส่วนหางจะยาว 60-95 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 130-260 กิโลกรัม สีขนตามลำตัวจะเป็นสีเหลืองอมส้มหรือน้ำตาลเหลือง และจะมีลายสีดำพาดขวางตลอดลำตัวซึ่งเป็นจุดเด่นของพวกมัน ซึ่งเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีลายไม่เหมือนกัน ส่วนหางก็จะมีสีดำเป็นบั้ง ๆ หรือเป็นวง ๆ สลับกับสีน้ำตาลและปลายหางจะเป็นสีดำ ขนบริเวณใต้คาง ใต้ท้องและคอจะเป็นสีขาว ส่วนหลังใบหูจะเป็นสีดำและจะมีจุดสีขาวนวลอยู่ตรงกลาง

เสือโคร่ง

ลักษณะพฤติกรรม

สัตว์ป่าชนิดนี้จะมีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่เพียงลำพัง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่จะมีการจับคู่เพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งการผสมพันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนี้จะรวดเร็วมาก ใช้เวลาเพียงประมาณ 15 วินาที เมื่อเสร็จแล้วตัวผู้ก็จะจากไปทันทีหรืออาจจะไปผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่นต่อ พวกมันจะชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าโล่งสลับกับป่าทึบ ชอบนอนแช่น้ำและว่ายน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างกับเสือสายพันธุ์อื่น ๆ โดยเสือโคร่งสามารถล่าเหยื่อได้ทั้งตอนกลางคืนและตอนกลางวัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พวกมันมักจะนอนพักผ่อนในช่วงกลางวัน และออกล่าเหยื่อในช่วงกลางคืน แถมพวกมันยังมีสายตาที่สามารถมองเห็นได้ทั้งที่สว่างและที่มืด ส่วนพฤติกรรมการล่าเหยื่อจะเริ่มต้นจากการคืบคลานเข้าหาเหยื่ออย่างช้า ๆ ตั้งแต่ระยะ 10-25 เมตร จนเมื่อถึงระยะประมาณ 2-5 เมตร จึงจะกระโดดเข้าหาเหยื่อ โดยปกติแล้วสัตว์ป่าชนิดนี้จะหวงถิ่นมาก มันจะปัสสาวะรดตามต้นไม้ เพื่อประกาศอาณาเขตของมันหรือเพื่อการสื่อสารกับตัวอื่น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment