ผึ้ง สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ แมลงผู้พิทักษ์ระบบนิเวศ

by animalkingdom
476 views
ผึ้ง

หลายคนอาจรู้สึกหวาดกลัวแมลงและไม่เข้าใจว่าจะมีพวกมันไปทำไม โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีแมลงเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงแล้วแมลงอย่างผึ้งนั้น ก็ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันทำหน้าที่ในการขยายพันธุ์พืชต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากกับเกษตรกร วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแมลงชนิดนี้ให้มากขึ้น พวกมันจะมีความน่าสนใจอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ไขความลับเกี่ยวกับผึ้ง แมลงที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศ

ผึ้ง

ผึ้ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่นักกีฏวิทยาด้านอนุกรมวิธานได้ทำการจัดเอาไว้ในอันดับไฮมีนอพเทรา เช่นเดียวกับต่อ แตน มด และตัวห้ำ เราอาจคุ้นชินว่าพวกมันเป็นแมลงที่มีลำตัวสีเหลืองสลับกับสีดำดูน่ารัก บริเวณส่วนหัวและหน้าอกมีขน แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่จะมีลักษณะเป็นเช่นนั้น

ลักษณะโดยทั่วไปของผึ้งคือ จะมีปีกอยู่ 2 คู่ เป็นปีกบาง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ปีกคู่หลังจะขนาดเล็กและเส้นปีกน้อยกว่า ถูกยึดติดกับปีกคู่หน้าด้วยตะขอเล็ก ๆ ที่เรียงกันเป็นแถว ช่วยให้พวกมันสามารถกระพือปีกบินได้อย่างรวดเร็ว 

พวกมันจะมีหนวดเอาไว้ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารหรือการสังเกตสิ่งต่าง ๆ มีปากแบบกัดเลีย มีดวงตาทั้งแบบเดี่ยวและรวมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ผึ้งยังมีอวัยวะพิเศษที่ใช้สำหรับการเก็บเกสรดอกไม้โดยเฉพาะ บางสายพันธุ์มีเหล็กในสำหรับโจมตีศัตรู แต่บางสายพันธุ์ก็ไม่มี

โดยปกติทั่วไปแล้ว ผึ้งจะไม่ใช้เหล็กในในการต่อยศัตรูหากไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกมันโจมตีด้วยเหล็กใน เท่ากับว่าพวกมันต้องเสียสละชีวิตตัวเองไปด้วย เมื่อปล่อยเหล็กในออกมาแล้วพวกมันก็จะตายในเวลาต่อมา พวกมันจึงจะโจมตีศัตรูเมื่อพบว่าศัตรูนั้นเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยจริง ๆ

การหาอาหาร 

การหาอาหารของผึ้งนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าพวกมันเป็นแมลงชนิดไหน ความหนาแน่นและปริมาณของอาหารมากน้อยเพียงใด แต่โดยปกติแล้วพวกมันจะออกหากินประมาณรัศมี 3 กิโลเมตรรอบรังเท่านั้น แต่ถ้าใน 3 กิโลเมตรไม่มีอาหาร พวกมันก็สามารถบินออกไปได้ไกลกว่า 12 กิโลเมตรเลยทีเดียว โดยปกติแล้วพวกมันจะเก็บน้ำหวานจากพืชเพียงชนิดเดียวเท่านั้น 

ที่น่าสนใจคือพวกมันมีความรวดเร็วในการเก็บน้ำหวานมาก ใช้เวลาเพียง 1 นาทีก็สามารถตอมดอกไม้ได้ถึง 40 ดอก 1 ตัวสามารถออกหาอาหารได้กว่า 4 ล้านรอบเลยทีเดียว ในแต่ละครั้ง ผึ้งจะเก็บน้ำหวานได้ประมาณ 40 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็น 90% ของน้ำหนักตัว โดยใช้ลิ้นและกรามเจาะอับละอองเกสรก่อนจะใช้ขาผสมเกสรและน้ำหวานเข้าด้วยกันแล้วปั้นเป็นก้อน หลังจากนั้นก็จะนำไปเก็บไว้ที่ Pollen basket หรือ Corbicula ของขาคู่หลัง

ผึ้ง

วงจรชีวิต 

ผึ้งเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพียงแต่พวกมันเป็นสัตว์ที่มนุษย์เราไปไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเกี่ยวสักเท่าไหร่ หลายคนจึงอาจไม่รู้ว่าพวกมันเคยเป็นหนอนและเข้าดักแด้มาก่อนด้วย วงจรการเติบโตของพวกมันจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย 

  1. ไข่ หลังจากนางพญาวางไข่เรียบร้อยแล้ว ไข่ที่มีลักษณะเหมือนเส้นด้ายสีขาว ความยาวเพียง 5 มิลลิเมตรก็จะได้รับการดูแลอย่างดีจากพวกพี่ ๆ ของมัน 
  2. หนอนหรือตัวอ่อน หลังจากไข่อายุครบ 3 วัน ก็จะฟักออกมากลายเป็นหนอนหรือตัวอ่อนที่ลำตัวมีสีขาวขนาดเล็ก จากนั้นพี่ ๆ ก็จะป้อนอาหารจนเจริญเติบโตและเข้าดักแด้เพื่อลอกคราบถึง 5 ครั้ง 
  3. ดักแด้ ในช่วงแรกดักแด้จะเป็นสีขาว เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาล 
  4. โตเต็มวัย เมื่อโตในดักแด้จนเต็มวัย ผึ้งที่อยู่ข้างในก็จะใช้กรามกัดไขออกมาและทำงานเหมือนกับพี่ ๆ ของพวกมันตามวรรณะตนเอง

วรรณะ 

ผึ้งเป็นสัตว์สังคมที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะไม่แตกต่างอะไรจากมนุษย์เรา แต่ที่น่าประทับใจคือ พวกมันเป็นสัตว์ที่รู้หน้าที่ของตนเอง และทำหน้าที่นั้นได้อย่างยอดเยี่ยม ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยสั่งสอน นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งของธรรมชาติ โดยใน 1 รังจะประกอบไปด้วย 3 วรรณะ นั่นก็คือ 

  • นางพญา เป็นหัวใจสำคัญในรัง ผึ้งนางพญาจะมีขนาดตัวที่ใหญ่โตที่สุด ถือกำเนิดจากไข่ที่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อตัวผู้ พวกมันจะมีร่างกายที่อุดมสมบูรณ์ มีอายุได้ยาวนานกว่า 7 ปี มีเหล็กในเพื่อทำลายหลอดนางพญาและต่อสู้กับนางพญาตัวอื่น ๆ แต่โดยปกติแล้วจะใช้เวลาอยู่ในรังเพื่อวางไข่เท่านั้น ไม่ออกไปหาอาหารเอง ไม่แม้แต่จะไปกินน้ำหวานเองด้วยซ้ำ ต้องรอให้ตัวอื่นในรังมาป้อน แลกกับการวางไข่ถึงวันละ 2,000 ฟอง
  • ตัวผู้ เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากนางพญาแต่มีลำตัวที่อ้วนกว่า เกิดมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อ แต่พวกมันก็มีอายุสั้นมาก สามารถอยู่ได้นานสุดเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น ใน 1 รังจะมีไม่เกิน 500 ตัว ไม่มีตะกร้าเก็บเกสรดอกไม้ ไม่มีเหล็กใน ไม่ทำอะไรเลยนอกจากผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียว และเมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้วก็จะตายไป
  • ผึ้งงาน เป็นผึ้งที่ตัวเล็กที่สุดในรัง เกิดจากนางพญาที่ผสมน้ำเชื้อกับตัวผู้ พวกมันเป็นหมันและไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ เป็นวรรณะที่มีประชากรมากที่สุดในรัง มีอายุขัยเพียง 8 สัปดาห์เท่านั้น พวกมันมีอวัยวะในการผลิตน้ำหวาน ไข และพิษ มีอวัยวะพิเศษสำหรับการเก็บเกสร มีเหล็กในสำหรับโจมตีศัตรู หน้าที่ของพวกมันหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการออกไปหาอาหาร ปกป้องรัง เลี้ยงตัวอ่อน ดูแลนางพญา สร้างรัง ไปจนถึงการซ่อมแซมรัง
ผึ้ง

ผลผลิตที่คุณจะได้รับจากการเลี้ยงผึ้ง 

ผึ้งกลายมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย ถึงแม้ว่าพวกมันจะเป็นเพียงแมลงตัวเล็ก ๆ แต่กลับสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล ผลผลิตที่คุณจะได้รับจากการเลี้ยงพวกมัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่น้ำหวานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 

  • น้ำหวาน เป็นน้ำหวานเกสรดอกไม้ที่แมลงอายุมากกว่า 22 วัน ออกจากรังเพื่อเก็บสะสมมาจากตาใบและดอกไม้ของพืช จากนั้นผ่านกระบวนการภายในเพื่อไล่ความชื้นและกลายมาเป็นน้ำหวานรสชาติยอดเยี่ยม
  • Royal Jelly เป็นอาหารสำหรับแมลงที่มีอายุตั้งแต่ 4 วันไปจนถึง 11 วัน ผลิตขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อใช้สำหรับการป้อนนางพญาและตัวอ่อน
  • เกสร เป็นละอองเกสรตัวผู้ของดอกไม้ที่พวกมันออกไปเก็บมาเป็นอาหาร ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวอ่อนและนางพญา
  • Propolis เป็นยางไม้ที่ผึ้งอายุตั้งแต่ 12 วันถึง 17 วัน จะออกไปเก็บตามต้นไม้ ใช้สำหรับการป้องกันรังไม่ให้เกิดโรคระบาดภายใน
  • Bee Wax เป็นไขที่ผึ้งอายุตั้งแต่ 18 วันถึง 21 วัน จะไปกินน้ำหวานจากดอกไม้แล้วผลิตไขออกมาเพื่อใช้ในการสร้างรังโดยเฉพาะ
  • พิษ เป็นสารที่ผึ้งอายุ 14 วันขึ้นไป จะผลิตและเก็บเอาไว้ภายในถุงน้ำพิษ จะใช้โดยการปล่อยออกมาพร้อมเหล็กในเมื่อโจมตีศัตรูเท่านั้น

รวมสายพันธุ์ของผึ้งที่สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย

ผึ้ง
  1. มิ้ม เป็นผึ้งสายพันธุ์เล็กแต่ก็ยังใหญ่กว่ามิ้มเล็ก รูปลักษณ์ใกล้เคียงกับแมลงวัน ประชากรส่วนใหญ่มักมีผิวตัวเป็นสีน้ำตาลดำ ต่างจากสายพันธุ์อื่นที่มีสีเหลืองสลับดำ ใน 1 รังสามารถมีประชากรได้สูงสุดกว่า 15,000 ตัว สามารถผลิตน้ำหวานได้ แต่เพราะเป็นสัตว์ที่อพยพบ่อยเลยทำให้การเลี้ยงค่อนข้างยาก
  2. ม้านหรือมิ้มเล็ก จัดเป็นผึ้งสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุด แถมยังหายากที่สุดในธรรมชาติอีกด้วย เพราะพวกมันอยู่อาศัยเฉพาะในป่าละเมาะใกล้กับภูเขาเท่านั้น มักสร้างรังตามกิ่งไม้เล็กหรือในซุ่มไม้ไม่สูงเท่าเพื่อนร่วมสายพันธุ์ รังจะบอบบางและมีขนาดเล็กเป็นอย่างมาก บางรังอาจใหญ่ไม่เกินฝ่ามือ 
  3. สายพันธุ์หลวง เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดของสายพันธุ์ท้องถิ่น และยังมีรังขนาดใหญ่ที่จำนวนประชากรสูงถึง 80,000 ตัวต่อรังอีกด้วย โดยปกติแล้วจะสร้างรังเพียงแค่รวงเดียวเท่านั้น มักสร้างรังในที่แจ้งและอยู่สูงใต้เงาไม้ พวกมันจัดเป็นแมลงที่ดุร้ายหากถูกรบกวน สามารถรุมต่อยมนุษย์จนตายได้เลย เพราะเหล็กในของพวกมันเต็มไปด้วยพิษมากมาย แต่ก็ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ให้น้ำหวานเยอะ เพราะเก็บสะสมน้ำหวานได้ถึง 15 กิโลกรัม
  4. สายพันธุ์โพรง เป็นสายพันธุ์ขนาดกลางที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ท้องถิ่น มักสร้างรังอยู่ในบริเวณที่มืดและมีอยู่หลายรวง ใน 1 รังสามารถมีประชากรได้มากกว่า 30,000 ตัว ในประเทศไทยมักพบว่า พวกมันมักสร้างรังตามโพรงไม้หรือโพรงหิน เราจึงสามารถเลี้ยงพวกมันในกล่องไม้เพื่อความสะดวกในการเก็บน้ำหวานได้ สามารถให้น้ำหวานได้ถึง 7 กิโลกรัมต่อปีต่อรัง
  5. สายพันธุ์ฝรั่งหรือสายพันธุ์อิตาเลียน เป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของพวกมันจะอยู่ในทวีปแอฟริกาและยุโรป แต่ในภายหลังถูกนำเข้าเพื่อใช้ผลิตน้ำหวาน ขนาดตัวของพวกมันจึงใหญ่โตมากกว่าผึ้งสายพันธุ์ท้องถิ่นเล็กน้อย มีนิสัยที่ไม่ดุร้ายและไม่ค่อยจะอพยพไปไหน การขยายพันธุ์ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ใน 1 รังจะมีประชากรได้สูงสุดกว่า 60,000 ตัวเลยทีเดียว

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของเหล่าสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Comment