งู สัตว์เลื้อยคลานที่มีทั้งสายพันธุ์ที่มีพิษและสายพันธุ์ที่ไม่มีพิษ และในประเทศไทยก็มีงูทั้งแบบที่มีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งงูพิษในไทยก็ถือว่าน่ากลัวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากงูเหล่านี้จะมีพิษที่ร้ายแรงแล้ว ยังสามารถพบได้ทั่วไปในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่า ในประเทศไทยของเรานั้นมีงูพิษสายพันธุ์ไหนบ้างนี่เราจะต้องระวัง
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
แนะนำงูพิษในไทยที่สามารถพบได้บ่อยทั่วไปในประเทศ
1.งูเห่า
สุดยอดงูพิษในไทยที่มาพร้อมกับสัญชาตญาณสัตว์นักล่าแบบเต็มเปี่ยม พวกเขาออกหากินบนพื้นดินในช่วงกลางคืน มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เต็มไปด้วยความชื้น สามารถมีความยาวลำตัวได้ถึง 1.8 เมตรเลยทีเดียว มักมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีเหลืองนวล สามารถแผ่แม่เบี้ยได้ บริเวณด้านหลังคอจะมีรูปลักษณะเป็นวงแหวนหรือตัว เรียกว่าลายดอกจันทร์ ใครเจองูที่แผ่แม่เบี้ยได้และมีวงกลมตรงกลางแม่เบี้ย มั่นใจได้เลยว่าเป็นงูเห่าแน่นอน
2.งูจงอาง
งูจงอางเป็นงูพิษในไทยที่หลายคนจำสับสนกับงูเห่า เนื่องจากพวกเขาสามารถแผ่แม่เบี้ยได้เหมือนกัน เป็นสัตว์กินเนื้อที่มักจะอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำในบริเวณป่าทึบ ขนาดลำตัวของพวกเขาโหดกว่างูเห่าเยอะ เพราะสามารถยาวได้สูงสุดถึง 5.4 เมตรเลยทีเดียว ลวดลายและสีสันจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับที่อยู่อาศัย ซึ่งเราจะรู้ว่าเป็นงูจงอางได้จากการแผ่แม่เบี้ย ด้านบนหน้าผากเหนือดวงตาจะมีเกล็ดขนาดใหญ่ 1 คู่
3.งูสามเหลี่ยม
อีกหนึ่งสายพันธุ์งูพิษในไทยพี่ค่อนข้างน่ากลัว เพราะงูสามเหลี่ยมมาพร้อมกับเลือดนักสู้ ไม่ค่อยกลัวคน สามารถอาศัยได้ทั้งตามป่าชายเลนหรือแม้แต่ในทุ่งหญ้า มาพร้อมกับความยาวลำตัวประมาณ 1.8 เมตร ลักษณะลำตัวจะเป็นทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน สีตามลำตัวจะสลับกันระหว่างสีดำและสีเหลืองนวล
4.งูทับสมิงคลา
งูทับสมิงคลาเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์งูพิษในไทยที่หลายคนจำสับสนกับงูสามเหลี่ยม เนื่องจากลำตัวของงูทับสมิงคลาจะลักษณะเป็นสามเหลี่ยมเหมือนกัน ซึ่งเราสามารถแยกพวกเขาได้จากสีสันบนตัวงู งูสามเหลี่ยมจะมีสีดำสลับกับเหลืองนวล แต่ทับสมิงคลาจะมีสีดำสลับกับขาวเหมือนกับม้าลาย มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นสูง ความยาวลำตัวประมาณ 1.5 เมตร บริเวณหน้าผากเหนือดวงตาจะมีเกล็ดขนาดใหญ่ 1 คู่
5.งูแมวเซา
งูแมวเซาเป็นงูพิษในไทยเจ้านี้มักจะไม่แสดงตัว ซุ่มอยู่แบบเงียบๆ ไม่ขู่ใด ๆ แต่ถ้าเราไปยุ่งเกี่ยวเมื่อไหร่ พวกเขาก็พร้อมที่จะฉกในทันที ลักษณะที่โดดเด่นของพวกเขาเลยก็คือ จมูก ที่จะมีลักษณะเชิดขึ้นและมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ มักอาศัยอยู่ตามซอกหิน โพรงดิน หรือในทุ่งหญ้า ลำตัวค่อนข้างอวบอ้วน แต่จู่โจมเร็วสุด ๆ มาพร้อมความยาวกว่า 1.5 เมตร เกล็ดตามลำตัวจะมีสีน้ำตาลอ่อนสลับกับสีน้ำตาลเข้มเป็นวงกลมทั่วทั้งลำตัว
6.งูกะปะ
งูพิษในไทยอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่หากเจอแล้วขอแนะนำว่าให้หนีโดยด่วน งูกะปะมักจะหากินในตอนกลางคืน อยู่ในสวนยางพาราหรือป่าที่มีความชื้นสูง บางครั้งก็อยู่ใต้กองใบไม้ เนื่องจากสีสันที่คล้ายกับใบไม้แห้ง เราจึงสังเกตเห็นได้ยาก ถึงแม้พวกเขาจะมีความยาวลำตัวเพียงแค่ 80 เซนติเมตร แต่บอกเลยว่าพิษของงูกะปะนั้นอันตรายสุด ๆ ดวงตาพวกเขาจะคล้ายกับดวงตาของแมว บริเวณกลางลำตัวจะมีสันเป็นสามเหลี่ยมขึ้นมา ใบหน้ายาวและปลายจมูกเชิดขึ้น บริเวณกลางหลังจะมีลวดลายเป็นวงกลม
7.งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง
ความจริงแล้วงูเขียวหางไหม้เป็นงูพิษในไทยที่มีอยู่หลายสายพันธุ์เลยทีเดียว แต่สายพันธุ์ที่พบบ่อยก็คือสายพันธุ์ท้องเหลือง พวกเขาสามารถอยู่ได้ทั้งในสวนหรือแม้แต่ตามบ้านเรือนของมนุษย์ ความยาวลำตัวเฉลี่ยประมาณ 80 เซนติเมตร ลำตัวอ้วนกลมดูน่ารัก สีสันสดใส ด้านบนเป็นสีเขียวอ่อนใบตอง ด้านล่างเป็นสีเหลือง หัวเป็นทรงสามเหลี่ยม ดวงตาคล้ายกับแมว มาพร้อมกับต่อมพิษบริเวณท้ายทอยที่พองออกมาจนเห็นได้ชัดเจน
เปิดวิธีแยกความแตกต่างระหว่างงูพิษและงูที่ไม่มีพิษ
งูพิษในไทยมีหลายสายพันธุ์อย่างที่เราได้แนะนำไปข้างต้น ซึ่งหากเราไม่สามารถแยกแยะได้ งูที่เราเห็นนั้นเป็นงูมีพิษหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมันก็ต้องใช้ความชำนาญในการสังเกตอยู่พอสมควรเลยเช่นเดียวกัน จึงจะสามารถแยกพวกเขาออกจากกันได้
ซึ่งหลัก ๆ แล้วเราจะสามารถแยกงูมีพิษและงูไม่มีพิษได้จากลักษณะของหัว งูมีพิษส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับหัวทรงสามเหลี่ยม โดยเฉพาะงูประเภท viper บางตัวอาจหัวกลมมนก็จริง แต่บริเวณส่วนล่างของหัวจะมีต่อมพิษบวมขึ้นมาอย่างชัดเจน
หรือถ้าเป็นงูที่แผ่แม่เบี้ยได้ ก็สามารถฟันธงได้เลยว่ามีพิษแน่นอน หากใครถูกกัดก็สามารถสังเกตรอยกัดได้ว่ามีเขี้ยวขนาดใหญ่ 2 จุดด้านบนที่เป็นเขี้ยวพิษหรือไม่ หากรอยกัดมีฟันขนาดเท่ากันเป๊ะ อาจเป็นงูที่ไม่มีพิษหรือพิษอ่อนจนไม่อันตรายกับมนุษย์
ซึ่งวิธีการสังเกตที่เราได้แนะนำไปนั้น สามารถนำไปใช้สังเกตได้ทั้งงูพิษในไทยและงูมีพิษทั่วโลก เพราะโดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาก็จะมีลักษณะที่ได้แตกต่างกันมากนัก
เพราะเหตุใด เราจึงไม่ควรตีงูไม่ว่าจะมีพิษหรือไม่ก็ตาม
หากสังเกตดูให้ดี ตามกลุ่ม Facebook มักจะมีการถ่ายรูปงูที่เจอเอามาโพส บางตัวเป็นรูปงูที่ยังมีชีวิตอยู่ บางรูปก็เป็นงูที่โดนตีตายไปเรียบร้อยแล้ว และงูที่โดนตีส่วนใหญ่ไม่ใช่งูพิษในไทยด้วยซ้ำไป พวกเขามักเป็นงูไม่มีพิษหรืองูพิษอ่อนที่ไร้พิษสง ไม่สามารถสร้างอันตรายให้กับมนุษย์ได้
ดังนั้นเราจึงไม่ควรตีงูไม่ว่ามันจะมีพิษหรือไม่ก็ตาม เพราะถึงแม้ว่ามันจะมีพิษ แต่หลายสายพันธุ์ก็เลือกที่จะไม่โจมตีมนุษย์ แค่เราไล่พวกเขาก็ไปแล้ว ไม่ใช่ว่างูที่มีพิษจะใช้พิษของพวกเขาอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะพิษของพวกเขาก็ต้องใช้เวลาในการสร้างเช่นกัน และงูเหล่านั้นยังสามารถคิดได้ด้วยว่า เวลาไหนที่ควรหรือไม่ควรใช้พิษของตนเอง
ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าสัตว์มีพิษเหล่านี้อาจเป็นสัตว์ที่อันตรายก็จริง แต่พวกเขาก็ยังคงมีความสำคัญกับระบบนิเวศอยู่เหมือนกัน และการที่เราฆ่างูโดยที่ไม่รู้ว่ามันคือสายพันธุ์ไหน จะยิ่งทำให้อันตรายมากขึ้นกว่าเดิม ขอแนะนำว่าถ้าเจองูให้ปิดประตูบ้านให้มิดชิด จากนั้นโทรเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจับตัวพวกเขาไปจะดีที่สุด
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me