บนโลกใบนี้มีสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีกระดอง และเนื่องจากมนุษย์คุ้นเคยกับเต่ามากกว่าหลายคนจึงมักจะเข้าใจผิดว่าตะพาบนั้นเป็นเต่าชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้วพวกเขาเป็นสัตว์คนละสายพันธุ์กันถึงแม้ว่าจะมีกระดองหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่ใกล้เคียงกันก็ตาม สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในน้ำ เราจึงไม่ค่อยได้เห็นพวกเขาตามธรรมชาติสักเท่าไหร่ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับตะพาบให้มากขึ้น พวกเขาจะมีลักษณะเป็นอย่างไรและจะน่าสนใจขนาดไหน ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับตะพาบ สัตว์มีกระดองที่สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย
ตะพาบจัดเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นในฐานะของสัตว์เลี้ยงหรือแม้แต่อาหารก็ตาม เนื่องจากเชื่อกันว่าพวกเขามีสรรพคุณทางยา ที่สามารถใช้บำรุงร่างกายหรือรักษาโรคได้
ความแตกต่างระหว่างพวกเขากับเต่าที่เราคุ้นเคยกันนั่นก็คือ กระดอง กระดองของพวกเขาจะแบนราบ ลักษณะจะไม่กลมแต่เป็นรูปวงรี ผิวกระดองจะเรียบเนียนสนิทเป็นแผ่นเดียวกัน ที่สำคัญคือมันจะนิ่มคล้ายกับเปลือกของปูนิ่มที่เรานำมารับประทานกัน
ลำคอมีความยาว ใบหน้าแหลมเป็นทรงสามเหลี่ยม กรามและขากรรไกรมีความแข็งแรง ฟันซี่เล็กก็จริงแต่มีความแหลมคมเป็นอย่างมาก มี 4 ขาที่ค่อนข้างสั้นและใหญ่ โดยแต่ละขาจะมี 3 นิ้ว มีเล็บที่มีความคม แต่ละนิ้วของตะพาบก็จะมีพังผืดเชื่อมติดกันเอาไว้ เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ในน้ำ
วิธีการสังเกตเพศสามารถดูได้จากหาง ตัวผู้จะมีหางที่ยาวกว่าตัวเมีย ส่วนลำตัวก็จะดูเรียวยาวมากกว่า ในขณะที่ตัวเมียหางสั้นแต่ลำตัวพวกเขาจะดูอ้วนกลม หลังจากโตเต็มวัยอายุได้ประมาณ 1 ปี พวกเขาก็จะผสมพันธุ์ หากตัวเมียมีอายุตั้งแต่ 1 ปี 8 เดือนขึ้นไป ก็จะให้ไข่ที่สมบูรณ์ หากอายุต่ำกว่านี้ก็สามารถวางไข่ได้เช่นกันแต่ไข่จะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
แหล่งที่อยู่อาศัย ลักษณะนิสัยและอาหาร
ตะพาบเป็นสัตว์ที่มักจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่นิ่งสนิทหรือบริเวณที่เป็นโคลน ถึงจะอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบกแถมยังจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์หนึ่ง แต่ถึงนั้นพวกเขาก็มักที่จะอาศัยอยู่ในน้ำมากกว่า การวางไข่ก็วางไข่ในน้ำ จะมีบ้างบางเวลาที่ขึ้นมานอนอาบแดดในตอนกลางวัน เนื่องจากเป็นสัตว์เลือดเย็น พวกเขาจึงต้องผึ่งแดดเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เป็นประจำ
โดยปกติแล้วตะพาบจะมีนิสัยที่ค่อนข้างขี้อายและดุร้ายไปพร้อม ๆ กัน นั่นก็เป็นเพราะว่าตามธรรมชาติพวกเขาไม่มีอวัยวะที่สามารถใช้ป้องกันตัวเองได้ จึงมักจะหลบซ่อนมากกว่าเผชิญหน้ากับศัตรูหรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาต้องต่อสู้ พวกเขาจะดุร้ายไม่แพ้สัตว์ชนิดอื่นเลยเช่นกัน
อาหารของพวกเขาส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสัตว์เล็ก ซึ่งประกอบไปด้วยปลา กุ้ง หรือ หอย ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังสามารถกินซากสิ่งมีชีวิตรวมไปถึงพืชบางชนิดได้อีกด้วย
ตะพาบมีหลากหลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ธรรมดาที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย สายพันธุ์ดาวหรือข้าวตอก สายพันธุ์แก้มแดง สายพันธุ์หัวกบ สายพันธุ์ม่านลาย และสายพันธุ์ไต้หวัน ส่วนสายพันธุ์ที่นิยมเพาะพันธุ์เพื่อเลี้ยงนั้นจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย สายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ไต้หวัน
รู้หรือไม่ ตะพาบมีสรรพคุณในการรักษาโรคด้วย
ตะพาบ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักมาก่อนว่า มีสรรพคุณในการรักษาโรคไม่ต่างจากสมุนไพร เนื่องจากคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า สิ่งที่สามารถนำเอามาใช้รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยตามธรรมชาติได้นั้นมีแค่ต้นไม้ใบหญ้า
แต่ความจริงแล้วชิ้นส่วนของสัตว์เองก็สามารถนำเอามาทำเป็นยาได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกเขาเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและพบได้ทั่วไป คนในยุคโบราณจึงค้นพบว่าตะพาบมีสรรพคุณทางยาและได้นำเอาชิ้นส่วนของพวกเขามาใช้ในการรักษาร่างกาย ประกอบไปด้วย
กระดอง
ในทางแพทย์แผนจีนว่ากันว่า กระดองของพวกเขานั้นจะมีธาตุยางเหนียว อุดมไปด้วยวิตามินมากมาย และยังมีโปรตีนและไอโอดีนอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถใช้รักษาอาการร้อนในได้เป็นอย่างดี ช่วยสมานและบำรุงตับ ช่วยลดการแข็งของผิวหนังบนร่างกายที่ทำให้เป็นตุ่มไต เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ในการปรุงยาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ช่วยป้องกันอาการตับแข็งได้เป็นอย่างดี ช่วยรักษาอาการถุงน้ำดีอักเสบบวมแดง สามารถใช้ในการควบคุมประจำเดือนได้ และยังสามารถแก้ปัญหาทารกสะดุ้งกลัวได้อีกด้วย
เนื้อ
หากนำเอาเนื้อมาปรุงเป็นอาหารรับประทานจะช่วยบำรุงร่างกายและเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมและมีความแข็งแรง จัดเป็นหนึ่งในยาอายุวัฒนะ
เลือด
ฟังดูน่าสยดสยองแต่เลือดของตะพาบนั้น สามารถบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี ช่วยแก้อาการใจสั่น รักษาอาการโรคหัวใจ อาการหายใจไม่คล่อง วิงเวียนศีรษะ แก้ตาลาย สามารถใช้ในการรักษาโรคกระเพาะและลำไส้ ร่างกายผอมเหลืองหรือซีดเซียว ใบหน้าเขียว หรือขาดเลือดจนตัวเย็น ช่วยแก้เวลาเด็กมีอาการตัวร้อน อาการปอดอักเสบ และรักษารูมาติซัม สามารถช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ดีขึ้นจนทำให้เจริญอาหาร รักษาโรคบิดหรือท้องร่วง อาการจับไข้ แก้ปัญหาหูรูดทวารหนักหย่อนยาน ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง อาการชาหรือปลายประสาทอักเสบ ในฝั่งญี่ปุ่นนั้นนิยมนำเอาไปผสมกับน้ำผึ้งรับประทานเพื่อแก้โรคเบาหวานอีกด้วย
เครื่องใน
เครื่องในสามารถนำมาปรุงเป็นยารักษาโรคบางชนิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอย่างเช่น โรคหอบหืด ในตำรับยาไทยเครื่องใช้แก้อาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมได้
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me