บนโลกใบนี้มีสัตว์มากมายเสียเหลือเกิน จนบางทีเราแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสัตว์สายพันธุ์นี้อยู่บนโลกใบนี้ด้วย อย่างเช่น ทัวทารา สัตว์ที่เมื่อเราพูดชื่อไปแล้วหลายคนคงเหวอว่ามันคือตัวอะไร ลักษณะภายนอกของพวกเขาดูคล้ายคลึงกับกิ้งก่าเป็นอย่างมาก เหมือนกับเราเอาไดโนเสาร์มาย่อขนาดก็ไม่ปาน แต่ความจริงแล้วพวกเขาไม่ใช่ทั้งไดโนเสาร์และกิ้งก่า แล้วพวกเขาคือตัวอะไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักทัวทารา สัตว์ที่มีอายุยืนยาวมากกว่า 100 ปี
ทัวทารา จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สืบเชื้อสายมาจากสัตว์โบราณในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ซึ่งหากจะหาต้นกำเนิดของพวกเขาก็ต้องย้อนกลับไปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ 220 ล้านปีเลยทีเดียว พวกเขามีอายุยืนยาวก็จริง เพราะกว่าจะโตเต็มที่ก็หลังจากมีอายุ 70 ปีไปแล้ว
พวกเขาสามารถเริ่มต้นผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น และยังเคยมีบันทึกว่า มีทัวทาราที่อายุมากถึง 111 ปีเลยทีเดียว คาดการณ์กันว่าพวกเขาน่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานสูงสุดกว่า 200 ปี แต่ทัวทาราก็ถูกจัดว่าเป็นสัตว์หายากเช่นเดียวกัน
เพราะพวกเขาต้องปรับสภาพตัวเองอยู่ตลอดเวลา กว่าจะสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงในทุกวันนี้ มีการคาดคะเนกันไว้ว่าในปัจจุบันเหลือจำนวนประชากรพวกเขาตามธรรมชาติอยู่เพียงแค่ 50,000 ตัวเท่านั้น ที่สำคัญคือพวกเขาสามารถพบได้ที่เดียวในโลกนั่นก็คือ บนเกาะเหนือในประเทศนิวซีแลนด์
เคยค้นพบทั้งหมด 3 ชนิด แต่สูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ชนิด ลักษณะของทัวทารามีความคล้ายคลึงกับบรรพบุรุษเมื่อ 200 ล้านปีที่แล้วเป็นอย่างมาก เพียงแต่ขนาดลำตัวของพวกเขาจะเล็กกว่า วัดความยาวจากหัวถึงหางอยู่ที่ประมาณ 32 นิ้วเท่านั้น
บริเวณแนวสันหลังของพวกเขาจะมีรอยหยักตั้งขึ้นมาคล้ายกับไดโนเสาร์ แต่เห็นแบบนี้ทัวทาราเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวช้าเป็นอย่างมาก
ว่ากันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเดินทางจากประเทศออสเตรเลียมาอยู่ในนิวซีแลนด์ด้วยการเกาะขยะที่ลอยมาตามทะเล ซึ่งเป็นขยะที่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการกำเนิดขึ้นของประเทศนิวซีแลนด์เมื่อประมาณ 60 ล้านปีที่แล้ว
หากดูจากลักษณะภายนอกแบบผิวเผิน ทัวทารามีความคล้ายคลึงกับกิ้งก่าเป็นอย่างมาก แต่ความจริงแล้วพวกเขาไม่ใช่กิ้งก่าแต่อย่างใด ลักษณะที่โดดเด่นของพวกเขาก็คือ ไม่มีช่องเปิดบริเวณหูชั้นนอก เพศผู้ก็ไม่มีอวัยวะสำหรับสืบพันธุ์
วิธีการผสมพันธุ์ของพวกเขาจะใช้ช่องเปิดที่อยู่ใต้ท้องให้มาติดกัน จากนั้นก็ปล่อยน้ำเชื้อเข้าไป บริเวณกลางหัวของพวกเขาจะมีแผ่นหนังที่มีลักษณะคล้ายกับดวงตา ทำหน้าที่เป็นดวงตาที่ 3 มีชื่อเรียกว่าตาผนังหุ้ม สามารถใช้ในการตรวจจับแรงสั่นสะเทือนและแสงได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว และยังทำหน้าที่เหมือนกับตาธรรมดาทั่วไปในการมองเห็นได้อีกด้วย
ทัวทาราเป็นนักล่าที่มีความสามารถในการซุ่มโจมตีอย่างน่าเหลือเชื่อ พวกเขาสามารถรอกินแมลงบนพื้นดินด้วยการดักรออยู่นิ่ง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานได้สบาย ๆ แถมยังกินลูกไม้บางชนิดได้อีกต่างหาก หรือหากพวกเขาอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างยากลำบาก พวกเขาก็สามารถกินลูกตัวเองที่เพิ่งฟักออกมาใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
ทัวทาราก็เหมือนกับสัตว์สายพันธุ์อื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน หลังจากที่วางไข่เรียบร้อยแล้วพวกเขาก็จะจากไปทันที ไม่ได้ดูแลหรืออยู่รอจนกว่าลูกจะฟักออกมาแต่อย่างใด หลังจากที่ลูกฟักออกมาตามธรรมชาติ พวกเขาก็ต้องเผชิญกับโลกกว้างด้วยตัวเองตามลำพัง
ภาวะโลกร้อน ภัยคุกคามที่ทำให้ทัวทาราเสี่ยงสูญพันธุ์
ทัวทารา อาจเป็นสัตว์อายุยืน สามารถอยู่ได้ยาวนานนับร้อยปี แต่ถึงแม้ว่าจะเก่งมากแค่ไหน เอาชีวิตรอดท่ามกลางโลกที่โหดร้ายมาหลายล้านปีแล้วก็ตาม แต่ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคปราบเซียนมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะช่วงเวลานี้อุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันกลายเป็นภัยคุกคามหลักสำหรับพวกเขา
เนื่องจากอุณหภูมิสามารถกำหนดเพศของไข่ได้ หากจะฟักออกมาเป็นตัวเมียอุณหภูมิต้องต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียสลงไป แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านั้นก็จะทำให้ทั้งรังมีแต่ไข่ที่ฟักออกมาเป็นตัวผู้
มันไม่ใช่ข่าวดีสำหรับประชากรทัวทาราที่จะต้องมีแต่เพศผู้อย่างแน่นอน เพราะหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนั้น พวกเขาก็จะกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในอนาคตอย่างแน่นอน
รู้หรือไม่ จีโนมของทัวทารามีความเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ทัวทารา เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์สุดท้ายที่ยังคงสามารถเอาชีวิตรอดมาได้นับตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ครองโลก ถึงอย่างนั้นวิวัฒนาการของพวกเขา กลับเป็นเรื่องที่เหล่านักวิชาการดันถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน
เนื่องจากมีงานวิจัยบางชิ้นบอกว่า พวกเขามีความสัมพันธ์กับงูและกิ้งก่า ในขณะเดียวกันบางส่วนก็บอกว่า ทัวทาราแยกสายพันธุ์ออกมาตั้งแต่เมื่อ 250 ล้านปีที่แล้วด้วยซ้ำ ล่าสุดมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับพวกเขา
มีการจัดอันดับจีโนมรวมถึงข้อมูลทางพันธุกรรมของพวกเขาทั้งหมด และมันก็ได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่ทั้งน่าทึ่งและเต็มไปด้วยความผิดปกติ นั่นก็เป็นเพราะว่า
จีโนมของทัวทารามีคุณสมบัติบางส่วนร่วมกันกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างเช่น ตุ่นปากเป็ด ตัวอีคิดนา หรือตัวกินมดหนาม ซึ่งพบว่าลำดับดีเอ็นเอบางส่วนมีลักษณะ “การกระโดดของยีน” และที่พบในทัวทารานั้น มีความคล้ายคลึงกับที่พบในตุ่นปากเป็ดเป็นอย่างมาก
ซึ่งจีโนมของทัวทารามีการกระโดดของยีนประมาณ 4% ที่พบได้ทั่วไปในสัตว์เลื้อยคลาน ประมาณ 10% พบในตุ่นปากเป็ดและอีคิดนา และที่พบน้อยกว่า 1% ก็ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นตัว อย่างเช่น มนุษย์
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me