หากพูดถึง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า หรือเต่าทะเลอื่น ๆ หลายคนคงไม่ทราบว่าพวกมันแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งก็รวมไปถึงเต่าหัวค้อน เต่าที่เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกันในวันนี้ จริง ๆ แล้วเต่าทะเลในแต่ละสายพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า พวกมันมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป แล้วเต่าทะเลสายพันธุ์ที่เราจะพาไปทำความรู้จักกันในวันนี้ มีความเหมือนและแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักกับเต่าหัวค้อน สัตว์ป่าคุ้มครองที่แทบไม่ปรากฏตัวในประเทศไทย
เต่าหัวค้อนหรือที่หลายคนเรียกกันในชื่อเต่าจะละเม็ด เต่าตาแดง เป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์หนึ่งที่สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก ลักษณะภายนอกของพวกเขาดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากเต่าทะเลสายพันธุ์อื่นสักเท่าไหร่ หากเอาไปวางเทียบกับเต่าตนุหรือเต่าหญ้าแล้วไม่ได้สังเกตให้ดีอาจแยกไม่ออกกันเลยทีเดียว
แต่ลักษณะที่โดดเด่นของพวกเขาก็คือ การมีลำคอและหัวขนาดโตสมชื่อ ปากแหลมเป็นจะงอยแต่ไม่ได้งุ้มลงมา มีดวงตากลมโตที่โปนออกมาจากส่วนของกะโหลก รูปทรงกระดองของเต่าหัวค้อนจะดูโค้งมนและบริเวณส่วนท้ายจะเรียวแหลมเหมือนกับหาง
เกล็ดบนกระดองบริเวณรอบนอกจะมี 5 เกล็ดซึ่งแตกต่างจากเต่าทะเลสายพันธุ์อื่น ตามเกล็ดจะมีสันแข็ง ๆ ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนสีของกระดองจะมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมส้มไปจนถึงสีน้ำตาลอมแดง
ขาทั้ง 4 ข้าง จะมีความแบนคล้ายกับครีบ เพื่อให้สามารถว่ายน้ำได้อย่างสะดวก และเคลื่อนที่บนชายหาดได้อย่างรวดเร็ว เท้าแต่ละข้างของเต่าหัวค้อนจะมีเล็บที่ยื่นยาวออกมา 1 เล็บ เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 120 กิโลกรัม และความยาวประมาณ 85 เซนติเมตร
เปิดวิถีชีวิตของเต่าหัวค้อน
ถึงแม้ว่าพวกมันจะอาศัยอยู่ในทะเล แต่เราต้องไม่ลืมว่าเต่าหัวค้อนเป็นสัตว์เลื้อยคลาน เพราะถึงแม้จะมีขา แต่มันก็ไม่สามารถใช้เดินได้ ทำได้เพียงแค่ใช้ไถตัวไปตามพื้นเท่านั้น โดยปกติทั่วไปแล้วพวกมันจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในท้องทะเล โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งน้ำตื้นที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป
แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ แม่เต่าก็จะว่ายกลับมายังชายหาดที่พวกมันเคยฟักตัวออกมาจากไข่ เพื่อวางไข่ในบริเวณเดิม พวกเขาจึงสามารถอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เพศของลูกเต่าไม่ได้ถูกกำหนดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ขึ้นอยู่กับว่าอุณหภูมิบริเวณที่วางไข่นั้นเป็นอย่างไร
หากอุณหภูมิเหมาะสมก็จะมีทั้งเพศผู้และเพศเมียออกมาในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าอุณหภูมิสูงจนเกินไปก็จะมีแต่เต่าเพศเมียเกิดออกมา หากอุณหภูมิต่ำไปก็จะมีแต่ลูกเต่าเพศผู้เช่นกัน ซึ่งหากจะบอกว่า เต่าหัวค้อน เป็นสัตว์อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุดก็ว่าได้
เพราะการที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปมาแบบนี้ ทำให้ลูกเต่ามักจะเกิดออกมาเป็นเพศใดเพศหนึ่งมากจนเกินไป และมันก็ส่งผลเป็นห่วงโซ่ต่อการสืบพันธุ์เมื่อพวกมันโตขึ้น
เต่าหัวค้อนเป็นนักล่าที่สามารถกินสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างหอย ปู กุ้ง ปลาหมึก ปลา รวมถึงสัตว์ขนาดเล็กที่พวกเขาสามารถล่าได้ ด้วยจะงอยปากที่แหลมคมและขากรรไกรแข็งแรง นอกจากนี้หัวที่มีขนาดใหญ่ ทำให้พวกมันมีอัตราการออกล่าที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเต่าสายพันธุ์อื่น
วิกฤตเต่าหัวค้อน เต่าทะเลที่ไม่พบในประเทศไทยร่วม 20 ปี
เมื่อพูดถึงเต่าทะเลหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์ เต่าหัวค้อนเองก็ถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ในประเทศไทย ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ากันเลยทีเดียว
จำนวนของเต่าหัวค้อนในท้องทะเลไทยมีน้อยเป็นอย่างมาก ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏตัวให้เราได้เห็นเลย ซึ่งนอกจากสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในไทยแล้ว สถานการณ์ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก ก็มีความน่ากังวลไม่แพ้กัน ถึงพวกเขาจะมีกระดองที่แข็งแรง ที่ช่วยให้สามารถเอาชีวิตรอดจากศัตรูทางธรรมชาติได้ก็ตาม
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ศัตรูที่สำคัญที่สุดของเต่าหัวค้อนก็หนีไม่พ้นมนุษย์อย่างพวกเรานั่นเอง พฤติกรรมของมนุษย์ที่บุกรุกธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติถูกรบกวนและไม่ยอมใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ยอมขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ไม่ยอมออกเดินทางมายังทะเลเขตอบอุ่นแม้แต่ในช่วงฤดูหนาว
ประชากรบางส่วนติดกับดักจากการทำประมงทั้งอวน แห หรือการถูกเรือชน บ้างก็ถูกล่าด้วยความเชื่อผิด ๆ ว่า เต่าสามารถนำเอาไปทำเป็นยาบำรุงได้ ดังนั้น สถานการณ์ของพวกมันจะกลับมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหายห่วงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์อย่างเราให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มากน้อยแค่ไหน หากเรายังคงดำรงชีวิตตามเดิม เชื่อว่าอีกไม่นานพวกมันคงจะสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้อย่างแน่นอน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกแสนรู้ได้ที่ Animalkingdom.me